เมื่อวันที่ 23 ส.ค.นายสิทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะทำงานชุดดังกล่าวไปแล้ว โดยสรุปมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่เริ่มจากการแก้หนี้ครูที่มีแหล่งหนี้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นข้อสั่งการและความเห็นจากรมว.ศึกษาธิการ ที่อยากให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครูมีการนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก่อน เพื่อให้จับต้องได้ของกระบวนการทำงาน ดังนั้นหากเราเริ่มแก้หนี้ครูจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะถือเป็นโมเดลนำร่องได้ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบข้อมูลพบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายแห่งมีการนำร่องแก้หนี้ครูไปบ้างแล้วและประสบความสำเร็จ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร เป็นต้น  โดยตนจะเชิญสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเหล่านี้มาร่วมพูดคุยว่าที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาหนี้ครูไว้อย่างไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการนำร่องแก้หนี้ครูต่อไป

ที่ปรึกษารมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการนำร่องแก้หนี้ครูสิ่งที่ศธ.จะดำเนินการจริงๆคือจะคัดเลือกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 12 แห่งในแต่ละภูมิภาค โดยแก้ปัญหาครูที่ประสบหนี้ทุกระดับตั้งแต่ระดับวิกฤตหนัก เช่น กำลังจะโดนฟ้องและล้มละลาย รวมถึงเงินเดือนไม่พอใช่ ระดับกลาง และระดับปกติ ดังนั้นเราจึงไม่คัดเลือกครูกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อนแต่จะแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันทุกระดับในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เราได้คัดเลือกมาแล้ว เพื่อทำเป็นโมเดลแก้หนี้ครูให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป ส่วนประเด็นการลดดอกเบี้ยจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นต้องเข้าใจว่าครูมีทั้งเงินฝากและเงินกู้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งหากจะไปลดดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องไปลดดอกเบี้ยเงินฝากลงด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ดังนั้นจะต้องหาแนวทางที่เป็นมาตรการกลางต่อไป

“ในอนาคตศธ.ตั้งไว้แล้วว่าการแก้ไขหนี้ครูจะเพิ่มเงื่อนไขให้ครูต้องไม่ไปกู้เงินมาอีก ส่วนครูรุ่นใหม่ได้เตรียมโครงการพัฒนาความรู้ให้แก่ครูด้านการบริหารจัดการวางแผนทางการเงิน เพื่อวางแนวทางให้ครูรุ่นใหม่เห็นว่าจะบริหารจัดการเงินอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดหนี้สะสมจนตัวเองวิกฤตทางการเงิน ซึ่งจะแบ่งหลักสูตรการพัฒนาตามอายุงานของครูแต่ละคนต่อไป” นายสิทธิชัย กล่าว