เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ในที่ประชุม นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ได้เสนอให้รวมญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และญัตติของนายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย เรื่อง ขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าด้วยกัน เนื่องจากทั้งสองญัตติเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้ ส.ก. ได้อภิปรายในคราวเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมสภาเห็นชอบใช้ชื่อญัตติ เรื่อง ขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายสุทธิชัย กล่าวเพิ่มว่า เรื่องรถไฟฟ้า กทม. ได้ดำเนินการมานาน กทม. จำเป็นต้องศึกษาปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ส.ก. จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ กทม. ซึ่งก็คือความเดือดร้อนของคน กทม. ด้วย

ขณะนี้ กทม. ถูกฟ้องเป็นเงินจำนวนมาก จากที่ กทม. ต้องเดินรถตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เกิดในสมัยของ ส.ก. ชุดปัจจุบัน ประกอบกับผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์มาตลอดเวลา การที่รถไฟฟ้าทวงหนี้มา จะจ่ายได้ก็ต่อเมื่อสภา กทม. เห็นชอบ ซึ่ง กทม. ต้องจ่ายทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุดและก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคตได้ การศึกษาครั้งนี้ เป็นการสร้างแนวทางเพื่อหาทางออกให้ผู้ว่าฯ กทม. โดยเป็นการพิจารณาจากคณะกรรมการที่มาจากรอบด้านทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ฝ่ายบริหาร และ ส.ก. เชื่อว่าจะเป็นการแบ่งเบาภาระให้ กทม. สามารถใช้เงินได้ และไม่มีภาระผูกพันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม สภา กทม. ต้องมีการศึกษาและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะหากไม่ศึกษา กทม. จะมีหนี้กว่าแสนล้านบาท

ขณะที่นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ การตั้งญัตติในวันนี้ เพื่อให้สภา กทม. ชุดนี้รวบรวมปัญหาและเสนอฝ่ายบริหารให้ตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง จากการศึกษาข้อกฎหมายหลายฉบับ เห็นว่าการที่ กทม. ต้องใช้งบจำนวนมากกับโครงการนี้ แค่เริ่มต้น กทม. ต้องเป็นหนี้เงินกู้เพื่อเป็นค่างานโครงสร้างพื้นฐานของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และปัจจุบันต้องจ่ายเงินดอกเบี้ยจำนวนมาก ปัญหาเกิดขึ้นจากทำสัญญาไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย โดยห้ามเปิดเผยสัญญา ซึ่งทางกฎหมายถือว่าไม่สุจริตสามารถให้เป็นโมฆะได้ อย่างไรก็ตาม การที่ กทม. ขาดทุนมหาศาลแต่บีทีเอสกำไรมหาศาล แสดงว่าสัญญานั้นไม่เป็นธรรม คนกรุงเทพฯ ต้องขึ้นรถโดยที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงอยากให้การศึกษาครั้งนี้มีทางออก เพื่อผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่แน่ว่ารัฐบาลจะเป็นชุดเก่าหรือไม่ แต่คาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา อาจจะรับเรื่องนี้กลับไปหรือดูแล กทม.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติ เรื่อง ขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ 23 คน โดยเป็น ส.ก. 18 คน และฝ่ายบริหาร 5 คน ทั้งนี้ไม่กำหนดระยะเวลาในการศึกษา

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในการประชุมสภา กทม. วันนี้ มีญัตติเรื่องขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องทางฝ่ายสภา ฝ่ายบริหารรอฟัง ก่อนเสนอผู้เกี่ยวข้อง เข้าไปเป็นคณะกรรมการดังกล่าว

ส่วนกรณีที่บีทีเอส ฟ้อง กทม. กับพวกอีก 2 คนนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการ มันก็ดี สมมุติถ้าไม่อยู่ในกระบวนการ จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ดีใจที่สภา กทม. มีส่วนเข้ามาศึกษาเพื่อทำการแก้ไข.