สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่า กฎหมายวางแผนครอบครัวและประชากร (Population and Family Planning Law) ของจีน ฉบับแก้ไข ที่ประกาศโดยสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) เมื่อวันศุกร์ (20 ส.ค.) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม ยาวนานหลายทศวรรษ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการกำหนดขนาดที่แน่ชัดของครอบครัวประชากร เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล กฎหมายฉบับใหม่จะถูกนำออกใช้ เพียงแค่ 6 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 รัฐบาลจีนจำกัดการมีบุตรของครอบครัวพลเมืองส่วนใหญ่ ไว้เพียงแค่ 1 คน ทางการบังคับใช้นโยบายด้วยบทลงโทษปรับ หรือสูญเสียการทำงาน ทำให้เกิดละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปอบบ รวมถึง การลักลอบหรือบังคับทำแท้ง และเนื่องจากค่านิยมของสังคมชาวจีนยุคเก่า ที่ต้องการมีลูกชายมากกว่า ทำให้เกิดการฆ่าทารกเพศหญิงจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่ภาวะความไม่สมดุลทางเพศอย่างรุนแรง

นโยบายครอบครัวมีลูกคนเดียว ถูกผ่อนคลายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 โดยอนุญาตให้มีได้ไม่เกิน 2 คน เมื่อทางการปักกิ่งเผชิญกับแนวโน้มอันตราย จากอัตราการเกิดลดดิ่งลง และประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จีนกลายเป็นประเทศร่ำรวย จากการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

รัฐบาลจีนมีความภาคภูมิใจมายาวนาน ว่านโยบาย “ลูกคนเดียว” คือความสำเร็จ ในการป้องกันไม่ให้มีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านคน ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งความสำเร็จนี้ทำให้ช่วยประหยัดทรัพยากร และช่วยขับเคลื่อนอัตราเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ

แต่อัตราการเกิดของจีน ซึ่งมีแนวโน้มต่ำใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ ไทย และอีกหลายประเทศในเอเชีย ลดลงต่ำตั้งแต่ช่วงก่อนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวแล้ว อัตราเฉลี่ยจำนวนเด็กเกิดใหม่ ต่อแม่ชาวจีน 1 คน ลดลงจากกว่า 6 คนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 เหลือต่ำกว่า 3 คนในปี พ.ศ. 2523 จากข้อมูลของธนาคารโลก

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรทุก 10 ปี ครั้งล่าสุดของจีน พบว่า แผ่นดินใหญ่มีประชากร 1,411 ล้านคนในปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้น 72 ล้านคนจากปี 2553 โดยตลอดปีที่ผ่านมามีเด็กเกิดใหม่ 12 ล้านคน ลดลง 18% จาก 14.6 ล้านคนของปี 2562

ประชากรจีนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มี 264 ล้านคน หรือ 18.7% ของประชากรทั้งหมดในปี 2563 สูงกว่าในปี 2553 คิดเป็นอัตรา 5.44% ขณะเดียวกัน ประชากรวัยทำงานลดลงจาก 70.1% ของประชากรทั้งหมดในปี 2553 เหลือ 63.3% ในปี 2563.

เครดิตภาพ – AP, REUTERS
เครดิตคลิป – Al Jazeera English