เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ในปี 2566 นี้ ต่างเต็มไปด้วยหมุดหมายสำคัญทางการเมือง ที่จะต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่ การเปิดศึกอภิปรายญัตติทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ภายใต้ยุทธการ “ถอดหน้ากากคนดี” ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค. ซึ่งจะเป็นเกมที่ฝ่ายค้านมุ่งเป้าถล่มเปิดแผลความล้มเหลวของรัฐบาลตลอด 4 ปี เพื่อต่อยอดไปใช้ในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ตามมาด้วย เกมชิงจังหวะยุบสภา ซึ่งมีการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของไทม์ไลน์ที่เหมาะเจาะที่สุดในการยุบสภา ในช่วงกลางเดือน-ปลายเดือน ก.พ. ซึ่งจะต่อพ่วงไปสู่การจัดการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ ภายใน 45-60 วัน หรือในช่วงประมาณเดือน เม.ย. แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลากยาวอยู่จนครบวาระ ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.
และเรื่องสำคัญไม่แพ้ 2 เรื่องแรก ก็คือการเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2566 ซึ่งจากบริบทการเมืองในปัจจุบัน สามารถคาดเดาได้เลยว่า ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเต็มไปด้วยความร้อนแรงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” ของ “พี่น้อง 3 ป.” และอาจหมายรวมถึง “บิ๊กท็อปบู๊ต” ในเวทีการเมือง นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสพลิกขั้วอำนาจของ “พรรคเพื่อไทย” ให้กลับมากุมบัลลังก์อำนาจอีกครั้ง โดยอาศัยเกมแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้ง และยังเป็นการเลือกตั้งที่มีลุ้นเพิ่มคนการเมืองเลือดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร
ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเดิมพันที่สูงสำหรับทุกฝ่าย ดังนั้นการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น ย่อมร้อนแรงสูงตามไปด้วย
แต่ก่อนที่สถานการณ์จะไปถึงจุดนั้น ปรับโฟกัสมาที่ปัจจุบัน สถานการณ์ในสภายังออกอาการ “ร่อแร่” จากปัญหา ส.ส. ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขอย่างเป็นทางการล่าสุด เหลือ ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ในสภา จำนวน 436 คน ประกอบกับปัญหาสภาล่มเรื้อรัง ซึ่งล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์สภาล่มตั้งแต่การประชุมนัดแรกของปี 2566 ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนที่เข้ากับสภาผู้แทนราษฎร ที่สื่อประจำรัฐสภา ตั้งฉายา “3 วันหนี 4 วันล่ม” ได้เป็นอย่างดี
ส่วนความเคลื่อนไหวนอกสภา ที่ต้องจับตามอง ก็หนีไม่พ้นการเดินเกมของ “2 ป.” ในช่วงหลังจากนี้ ทั้งในส่วนของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และในส่วน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต่างถือเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ต่อเกมการเมืองและเกมเลือกตั้งหลังจากนี้
โดยเริ่มกันที่ “บิ๊กป้อม” จากการออกมาพูดถึงกรณี “บิ๊กตู่” เตรียมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างมีนัยสำคัญว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นน้อง ไม่ถือว่าคู่แข่งกัน แต่ถ้าทางการเมือง ใครทางการเมืองดีกว่าคนนั้นก็เป็นไป ไม่มีปัญหา อีกทั้งส่วนตัวผมไม่ขอแสดงความเห็นหากจะได้เป็น นายกรัฐมนตรี เพราะการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านขั้นตอนการเลือกในสภา”
ในส่วนของ “บิ๊กตู่” ก็มีการเตรียมเปิดตัวกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ในวันที่ 9 ม.ค. ที่จะถึงนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะถือเป็นการนับหนึ่งสถาปนา “นั่งร้านอำนาจใหม่” อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค มีการเตรียมองคาพยพไว้เสร็จสรรพแล้ว
บริบททางการเมืองที่เห็นได้ในขณะนี้ ก็จะแบ่งได้เป็น การเมืองแบบ 2 ขั้ว 2 ข้าง แต่เมื่อศึกเลือกตั้งจบลง ก็อาจจะเกิดคณิตศาสตร์การเมือง จนเกิดเป็น “ขั้วที่ 3” จากการรวมเสียงส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ขั้ว ทั้ง พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงจะต้องรอดูท่าทีของ ส.ว. ที่จะชี้ชะตาว่าโมเดลการเมือง “ขั้วที่ 3” นี้ จะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. มากน้อยแค่ไหน และท้ายที่สุดแล้ว ใครจะเป็นคนคุมเสียง ส.ว. ส่วนใหญ่ในสภา
ส่วนโมเดลการเมือง 2 ขั้ว ในส่วนของขั้วอำนาจเก่า แม้จะยังมีอาการไม่ลงรอยกันระหว่าง “พี่ป้อม-น้องตู่” ให้เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา แต่หากเสร็จศึกเลือกตั้งแล้ว ต่างฝ่ายต่างมีตัวเลข ส.ส. ในมือตามที่ตั้งใจไว้ ความสัมพันธ์ของพี่น้องที่อยู่ร่วมกันมาเกือบทั้งชีวิต ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะกลับมากลมเกลียวกันอีกครั้ง เพื่อจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล
ขณะเดียวกัน เกมการเมืองในตอนนี้ คนที่ดูจะได้เปรียบมากที่สุดก็คือ “บิ๊กป้อม-พรรคพลังประชารัฐ” และ “เสี่ยหนู-พรรคภูมิใจไทย” ที่ดูจะมีโอกาสกลับเข้าสู่เกมอำนาจหลังเลือกตั้งได้อีกครั้ง โดย “บิ๊กป้อม” กุมความได้เปรียบจากความคล่องตัวของพรรคพลังประชารัฐ ภายหลัง “บิ๊กตู่” แยกทางออกไป ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐ สามารถร่วมจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วไหนก็ได้ และอาจจะเป็นพรรคที่เนื้อหอมจากการที่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ส่วนหนึ่งอยู่ในมือด้วย
ขณะที่ “เสี่ยหนู” ก็ได้ออกมาปฏิเสธสูตร “นายกฯ คนละครึ่ง” รับไม้ต่อจาก “บิ๊กตู่” พร้อมกับประกาศชัดกลายครั้งว่า ไม่เป็นทายาททางการเมืองของใคร ขณะที่ “ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทย” เนวิน ชิดชอบ ก็เคยพูดไว้ชัดว่า “เสี่ยหนู” ไม่ได้มีความขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย หรือความขัดแย้งกับ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็หมายความว่าโมเดล “ขั้วที่ 3” จากการจับมือของ พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ยังไม่ถูกปิดประตูตาย
ดังนั้น งานนี้คนที่อาจจะโดน “ถีบหัวส่ง” ไปเป็นฝ่ายค้าน ก็อาจจะเป็น “บิ๊กตู่-พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่อาจจะต้องฝึกประสบการณ์ในการเป็นฝ่ายค้านไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเมืองโหดร้ายกว่าที่คิด หากผลประโยชน์ลงตัวกัน อะไรก็เกิดขึ้นได้
หนทางการเมืองหลังจากนี้ คงไม่ได้สวยหรูปูพรมแดง เพราะที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” ได้ใช้โอกาสเดินบนพรมแดงไปหมดแล้ว ดังนั้น หนทางข้างหน้าจึงเป็น “เส้นทางวิบาก” ที่เต็มไปด้วยหลุมดำและกับดักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประกอบกับวิกฤติคะแนนนิยมที่ “บิ๊กตู่” กำลังเผชิญอยู่ เริ่มเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดจากผลสำรวจความคิดเห็นของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2565” ซึ่งหนึ่งในนั้น มีการจัดอันดับนักการเมืองที่สุดแห่งปี โดยในส่วนของนักการเมืองชาย ตกเป็นของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 51.96% ขณะที่ “บิ๊กตู่” ตกไปเป็นอันดับ 3 รองจาก ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่วนนักการเมืองหญิงตกเป็นของ “อุ๊งอิ๊ง”แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย 40.35%
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลโพลดังกล่าวก็ยังไม่ใชการการันตีผลการเลือกตั้ง เพราะเมื่อถึงเวลาที่สนามรบเปิดสังเวียน ทุกวิชาสารพัดเล่ห์เหลี่ยมก็จะถูกงัดออกมาใช้เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งก็ต้องรอดูว่า ท้ายที่สุดใครจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ปิดท้ายกันด้วยความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ท่ามกลางบรรยากาศการเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไล่ตั้งแต่ พรรคพลังประชารัฐ ภายหลัง “บิ๊กตู่” แยกทางออกไป และมีข่าวว่าเตรียมชงชื่อ “บิ๊กป้อม” นั่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงคนเดียว แต่ปัญหาภายในพรรคกลับยังไม่สงบลง โดยล่าสุด เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นอีกระลอก จากกรณีแกนนำพรรค ข้างตัว “บิ๊กป้อม” กุมอำนาจภายในพรรค เสียจนทำเอาสมาชิกออกอาการเอือมระอา จนมีข่าวว่า หลังการประชุมใหญ่พรรค จะมีสมาชิกพรรคลาออกอีกลอตหนึ่ง
ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตอนนี้เรียกได้ว่าป๊อปปูลาร์เป็นพิเศษ ภายหลัง “บิ๊กตู่” แสดงความชัดเจนทางการเมือง โดยการร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ทำเอาคนการเมืองมากหน้าหลายตาแห่เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งงานนี้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ก็ออกมาประกาศชัดว่า มั่นใจจะได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 25 เสียง ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้
ส่วน พรรคเพื่อไทย ก็เล่นบท “ฉายเดี่ยว” ร่อนแถลงการณ์ ไม่ได้จับมือพรรคการเมืองใดตั้งรัฐบาล เน้นเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ โดยตั้งเป้าต้องได้ ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป เพื่อเอาชนะเสียง ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ โดยมีการทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. แล้วกว่า 300 เขตเลือกตั้ง
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ก็เรียกได้ว่า “เนื้อหอม” สุดๆ จนทำเอา ส.ส.-อดีต ส.ส. แห่ย้ายสำมะโนครัวเข้าพรรคจนหัวกระไดไม่แห้ง ทั้งแบบลอตใหญ่-ลอตเล็ก จนทำเอา พรรคภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคที่ถูกจับตามองในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะงานนี้ การที่ “ครูใหญ่เนวิน” เคยประกาศกวาด ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 120 คน และพร้อมดัน “เสี่ยหนู” ผงาดขึ้นตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ในส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ มีการเปิดนโยบายเรียกเรตติ้ง นโยบาย “3 ส.สร้าง” สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ และมีการชักธงรบ ประกาศเสียงแข็งว่า ยังเป็นเจ้าของพื้นที่ภาคใต้ โดยมีการประกาศกวาด ส.ส. ภาคใต้ 35-40 ที่นั่ง
สุดท้ายแล้ว ด้วยบริบทการเมืองที่บีบคั้นและหมุดหมายสำคัญทางการเมืองในปี 2566 นี้ ก็มีโอกาสสูงที่ “กระต่าย” จะต้อง “ลุยไฟ” ทางการเมืองที่ร้อนระอุ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!.