เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 66 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภากล่าวถึงระบบธนกิจการเมือง หรือธุรกิจการเมือง ว่า ขอยืมคำพูดเพื่อน ส.ส.มาพูดว่าการเลือกตั้งเที่ยวหน้าที่จะถึงนี้น่าใช้เงินซื้อหนักกว่าเดิมในการใช้เงิน คำขวัญวันเด็กในปี 2566 ตนจึงใช้คำว่า ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต ขณะเดียวกัน สภาก็ทำโครงการบ้านเมืองสุจริตให้มีความต่อเนื่อง หากเราดูที่ผ่านมาคนที่ไปทำโพลถามชาวบ้าน เรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะมาเป็นอันดับ 1 แต่ปัจจุบันอยากให้แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก่อนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าประชาชนมองว่าปัญหาทุจริตเกี่ยวกับผลประโยชน์กระจายอยู่ทั่วไปจนลุกลามน่าอันตราย สิ่งเหล่านี้ถ้าการเมืองมาโดยสุจริตปัญหาก็จะไม่ค่อยเกิด

นายชวน กล่าวต่อว่า ถ้า ส.ส.ใช้เงิน ส.ส.เอาเงินมาจากไหน ในที่สุดเมื่อมีการใช้เงิน ก็ต้องมีผู้ให้เงิน แล้วใครที่จะรวยพอจะเอารายได้มาให้เงิน ดังนั้นต้องช่วยกันรณรงค์ช่วยกันย้ำให้ประชาชนเห็นว่า อยากได้รัฐบาลดีต้องได้ผู้แทนฯ ที่ดี อยากได้รัฐบาลซื่อสัตย์ ต้องได้ผู้แทนฯ ที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ซื้อเสียง ไม่โกง เพราะในระบบนี้ฝ่ายนิติบัญญัติคือผู้ที่ตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ถ้าเราเลือกประเภทโกงเข้ามาก็ได้รัฐบาลโกง อนาคตจะส่งผลต่อประเทศชาติและส่วนรวม

เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันระบบธุรกิจการเมือง โดยเฉพาะอยากฝากอะไรถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คงต้องไปถามทาง กกต. แต่ยอมรับว่าการติดตามไปไม่ถึงคนใช้เงินในธุรกิจการเมืองเป็นไปได้ยาก คนทำผิดก็มีพฤติการณ์ที่หลบเลี่ยง

“ภาพรวมมาถึงวันนี้ประชาธิปไตยเราในปี 2566 จะครบรอบ 90 ปีนับตั้งแต่มีระบบรัฐสภามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ผมอยากสรุปภาพรวมว่า การเมืองเราเปลี่ยนแปลงในทางที่ประชาธิปไตยเรามีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนเชื่อมั่น หวงแหนประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาคือ การเมืองไม่สุจริต ธุรกิจการเมืองกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องประชาชนต้องมีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ไข รัฐธรรมนูญเราใช้มา 20 ฉบับ ฉบับที่ 20 (ปี 2560) ก็เป็นฉบับหนึ่ง คำปรารภเขียนไว้ว่า ไม่ต้องการให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ พูดง่ายๆ ว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่เราใช้มาตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ทุกคนต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติยังปราบไม่ได้ แนวโน้มโกงก็ยังมากขึ้น ดังนั้นกฎหมายที่ดี กับคนที่ดีต้องไปด้วยกัน กฎหมายดี คนใช้ไม่ดีก็มีปัญหา เพราะคนใช้ไม่เคารพกฎหมาย เราได้บทเรียนจากประสบการณ์ 90 ปีชัดเจน เราจะมองกฎหมายดีอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรณรงค์คนดีด้วย” นายชวน กล่าว

เมื่อถามว่าหากเงินซื้อเสียงมาถึงหน้าบ้าน ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร ระหว่างปฏิเสธตั้งแต่ต้น กับรับเงินไว้ก่อนแต่ไม่เลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครคนนั้นๆ นายชวน กล่าวว่า “ขอตอบว่าไม่รับเงิน เพราะเงินไม่ว่ากี่ร้อยไม่ได้ทำให้ชีวิตรุ่งเรือง ครั้งเดียวไม่ทำให้ใครที่ได้รับเงินเลือกตั้งกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวย ยกเว้นหัวคะแนนที่ได้ประโยชน์ ตรงกันข้ามจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ติดอยู่ใจว่าเราไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ทำไมพรรคการเมืองถึงไปแย่งภาคใต้ คะแนนนิดเดียว ก็เพราะว่าเดิมภาคใต้ใช้ระบบไม่ใช้เงิน ยุคพวกผมไม่มี แต่ตอนหลังเงินเข้าไป แล้วฐานะของคนภาคใต้ก็เปลี่ยนไปเศรษฐกิจมีปัญหา รายได้ลด ผมเคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเลือกตั้งปี 62 ว่ารายได้คนภาคใต้ลดลงอย่างน่าตกใจ เช่น จ.ระนอง จ.ตรัง ตอนเลือกตั้งคราวโน้นรายได้ของคนใต้ลดลงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน เมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงไปชีวิตคนก็เปลี่ยน นักการเมืองที่ใช้เงินเริ่มได้ผล แต่ได้ผลแบบไปซื้อของถูก เพราะที่อื่นแพง ภาคใต้ไม่เคยใช้เงินสักบาท พอเริ่มซื้อก็ซื้อแบบราคาถูก พรรคการเมืองเลยไปกันเยอะ ที่ซื้อถูกไม่ใช่เพราะค่าตัวเขาน้อย แต่เพราะในอดีตไม่มีการซื้อ แต่ที่อื่นมี”

นายชวน กล่าวอีกว่า สมัยที่เป็นหัวหน้าพรรคมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เสียใจจนถึงทุกวันนี้ ผู้สมัครคนหนึ่งชอบวิธีพวกเรามาก พยายามปฏิบัติตามพวกเรา พอวันสุดท้ายของการเลือกตั้งเขาไม่ให้เงิน ผู้สมัครคนนี้ชาวบ้านรักมาก มีสามีเป็นหมอ แต่ว่าชาวบ้านมาขอเงินแค่ 10 บาท เขาถามพวกเรา ซึ่งก็ตอบไปว่าในเมื่อไม่ให้ก็ต้องไม่ให้ 5 บาท 10 บาท 100 บาท ก็ไม่ให้ สุดท้ายแพ้เลือกตั้ง แล้วชีวิตครอบครัวก็มีปัญหา ลงท้ายด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่สะเทือนใจมากครั้งหนึ่งในชีวิตการเมืองที่เราแนะนำไม่ให้เขาซื้อเสียง ฉะนั้นต้องอาศัยคนที่รักบ้านเมือง บ้านเมืองจะไม่มีวันไปดีถ้านักการเมืองทุจริตโกงกิน เขาไม่ตั้งข้าราชการดีแน่นอน เพราะนักการเมืองโกงก็ต้องตั้งข้าราชการโกง.