น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย​เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปิดบริการปกติเพียง 50% เท่านั้น โดยมีปิดกิจการชั่วคราว 35% เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 22% และในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ปิดกิจการถาวรถึง 4% เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 1% โดยกิจการที่ปิดกิจการถาวรมากที่สุด คือ ร้านขายของที่ระลึก รองลงมาคือ สปา นวดแผนไทย, สถานบันเทิง และโรงแรม  

ทั้งนี้จากการสำรวจสถานภาพการประกอบกิจการ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ แม้ว่าในภาพรวมธุรกิจต่าง ๆ จะเปิดบริการได้ 50% โดยเฉพาะบริการขนส่ง ซึ่งมีการเปิดบริการมากถึง 85% แต่ก็ไม่มีคนเข้าไปใช้ หรือเข้าไปใช้น้อยมาก ขณะที่การปิดกิจการชั่วคราวนั้น จากการสำรวจพบว่าธุรกิจประเภทต่าง ๆ มีสัดส่วนการปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ด้านสถานบันเทิงในช่วงของการสำรวจเป็นช่วงที่มีการปิดกิจการชั่วคราวค่อนข้างมาก โดยมีการเปิดบริการปกติเพียงแค่ 3% เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงบางส่วนหันไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน  

ส่วนรายได้ของธุรกิจนั้น พบว่ากว่า 75% มีรายได้ไม่เกิน 10% อีกทั้งสถานประกอบการ 68% มีจำนวนพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง ส่วนเงินเดือนและการจ่ายค่าจ้างปรับลดลงเหลือ 65% จากไตรมาสก่อนที่ได้ 70% โดย 60% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวที่ยังเปิดอยู่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานไม่เกิน 50% จากที่เคยจ่าย ซึ่งสถานประกอบการที่ยังเปิดบริการในไตรมาสนี้  74% มีทุนสำรองให้ใช้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สะท้อนให้ในเห็นว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีสถานประกอบการเหลือรอดอยู่เพียงประมาณ 13% ของทั้งประเทศเท่านั้น 

น.ส.ผกากรอง กล่าวว่า หากดูภาวการณ์จ้างงานโดยเฉลี่ของไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ก็ปรับลดลงโดยจำนวนพนักงานลดลงจาก 52% เหลือ 51% หมายความว่า ในระบบแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานอยู่ 4.2 ล้านคน ตอนนี้ถูกให้ออกจากงานไป 49% หรือประมาณ 2 ล้านคนแล้ว ส่วนการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาสที่ 2 ปี 64 อยู่ที่ระดับ 11 ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด และต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาในระดับมาก แต่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 33 ในไตรมาสที่ 3