เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์วิเคาระห์การเมืองปี 66 ในส่วนของกองทัพจะมีส่วนสำคัญต่อการเมืองไทยในปีหน้าอย่างไรว่า กองทัพยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน ตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังอยู่ และโครงสร้างอำนาจของกองทัพยังเป็นแบบนี้ ดูจากประวัติศาสตร์การเมือง ชอบหรือไม่ชอบ กองทัพจะมีบทบาทอีกแน่ๆ ในการเมืองไทย 4 ปีถัดไป ตนคิดว่าไม่เป็นคุณกับประชาธิปไตย เพราะไม่มีที่ไหน ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ไม่มีที่ไหนที่ รมว.กลาโหม จะย้ายข้าราชการทหารระดับผู้บัญชาการและต้องเข้าคณะกรรมการซึ่งมีผู้บัญชาการนั่งอยู่ด้วย ทหารไปอยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวันของผู้คน

ถ้าต้องการให้ประเทศไทยเข้ารูปเข้ารอยต้องเอาทหารออกจากการเมือง คงจะดีดนิ้ววันเดียวเสร็จไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำ ไม่เช่นนั้นต่อไปจะวนเข้าที่เดิมอีก ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารตลอดเวลา เพราะกลุ่มที่เป็นชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมปัจจุบันเห็นมาตลอดว่าเมื่อรัฐประหารเสร็จเข้าสู่ระบบปกติด้วยการเลือกตั้ง ถึงเวลาเลือกตั้งขึ้นมาทีไร ช้าเร็วอำนาจของพวกคุณ ก็จะต้องค่อยๆ ลดลงไป เมื่อไม่ยอม ก็จะต้องกลับมายึดอีก ตนเลยเชื่อว่ามันมาอีกแน่ แต่ครั้งหน้าถ้ามา ผมว่าจบไม่เหมือนเดิม

นายปิยบุตร กล่าววิเคราะห์ทิศทางการทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล ตนไม่อยากใช้คำว่ารีแบรนด์ซ้ายกลาง ซ้ายสุด การออกแบบนโยบายจึงต้องหาจุดสมดุลภายใต้อัตลักษณ์ที่ยังไม่เสีย ต่อให้พรรคก้าวไกลทำตัวเป็นพรรคสงบเสงี่ยมเรียบร้อยนั่งพับเพียบทำอะไรเหมือนที่ทุกพรรคทำกันตอนนี้ คุณว่าคนที่คุมอำนาจอยู่จะเชื่อหรือไม่ เขาไม่เชื่อ ต่อให้ออกไปยืนไปสาบานต่อหน้าวัดพระแก้ว คนก็ไม่เชื่อ ตนว่ามันเลยจุดของการอธิบายให้คนที่อคติมากๆ เชื่อแล้ว ส่วนตัวของตน ยังยืนยันเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พูดหลายครั้งว่าประเทศนี้ต้องมีสถาบันกษัตริย์ พรรคก้าวไกลพูดว่า เป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดีๆ จะทำได้หมดทุกเรื่อง เช่น การแก้ไขมาตรา 112 และการช่วยเหลือเยาวชนที่ถูกจับกลุ่ม

ดังนั้น มันอาจจะช้าเกินไปแล้วที่จะไปอธิบายตัวเองว่า ฉันไม่ได้ทำอย่างนั้น ฉันไม่ได้คิดอย่างนี้ ตรงกันข้ามถ้าจุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในท้ายที่สุดคุณจะไม่ได้อะไรเลย ตนเลยไม่เชื่อว่าเขาจะรีแบรนด์เพื่อทำให้ตัวเองได้ไปร่วมรัฐบาล เท่าที่ตนดูก็คิดว่าเขายังคิดแบบเดิมและไม่ได้ถอนนโยบายที่เสนอมา จุดชี้ขาดว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่คุณไปนั่งพับเพียบ แต่จุดชี้ขาดคือ คุณมีคะแนนเท่าไหร่

ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่ามีคนอยากเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล มองสภาพความเป็นจริงภายใต้เงื่อนปัจจุบัน แล้วบอกว่าแต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเสียที ตนชวนให้คิดใหม่ว่า ถ้าอยากให้เป็นมากก็แลนด์สไลด์พรรคก้าวไกลดู จุดชี้ขาดไม่ได้อยู่ที่ต้องไปนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่อยู่ที่เสียง ถ้าได้อย่างถล่มทลายทำไมจะไม่ได้เป็นรัฐบาล

เมื่อถามว่า กองเชียร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กับกองเชียร์พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ทะเลาะกัน จะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของผู้สนับสนุน แต่ตนอยากจะชวนให้คิดว่าหากนำสิ่งที่อยู่ในโซเชียลกับในทวิตเตอร์มาประเมินว่า นี่เป็นทั้งหมดของทั้งประเทศไม่ได้ ในส่วนของแกนนำพรรค น่าจะพูดคุยกันได้ ไม่ได้ทะเลาะอะไรกันถึงขนาดที่จะทำงานร่วมกันไม่ได้

เมื่อถามว่า คิดว่า พท. มีโอกาสยอมให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้า พปชร. มาเป็นนายกฯ หรือไม่ นายปิยบุตร ตอบว่า ตนไม่รู้เลย แต่ความเห็นตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะ พท. มีแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองอยู่แล้ว เป็นพรรคอันดับหนึ่งและเป็นพรรคขนาดใหญ่ ต่อเนื่องมาทุกสมัยตั้งแต่ตั้งพรรค เป็นที่หนึ่งตลอดกาล ซึ่งหายากมาก เมื่อเป็นเช่นนี้การเอาคนอื่นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงเป็นไปไม่ได้ ตนจึงยังเชื่อว่าเขามีแคนดิเดตนายกฯ ของเขาแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปรียบข้อดีข้อเสีย แคนดิเดตนายกฯแต่ละพรรค อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้า ปชป. นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. นายปิยบุตร ตอบว่า ประเทศไทยครั้งหน้า ถ้าจะต้องให้ไปต่อให้ได้ และไม่ให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง ต้องเป็นนายกฯ ที่เป็นคนหน้าใหม่ อายุไม่มาก

ด้านหนึ่งหากตนเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ตนจะให้คนอายุน้อยมาเป็น เพราะสังคมเปลี่ยน หากยังใช้แบบเดิมทางนี้ก็ถ่างๆ เรื่อยๆ เวลาใครพูดเรื่องนี้ตนจะยกในหลวงรัชกาลที่ 5 ทุกครั้ง ที่เป็นแกนนำของกลุ่มสยามหนุ่ม เพราะทนไม่ไหวกับระบบราชการแบบเดิม เมื่อท่านขึ้นครองราชย์จึงรื้อทิ้งทั้งหมด เรามักจะบอกว่าต้องการคนที่เคยบริหารประเทศมา เคยเป็นรัฐมนตรีมา แต่ตนกลับคิดกับกันว่า หากเอาคนเดิมที่เคยบริหาร ก็ทำแบบเดิม เราต้องสร้างประเพณีเดิมกลับมาให้ได้ คือใครได้อันดับหนึ่งก็ให้คนนั้นเป็นแกนตั้งรัฐบาลและให้เป็นนายกฯ ด้วย ไม่เช่นนั้นต่อไปการเมืองไทยจะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เมื่อตั้งพรรคมาก็ลุ้นแค่ 25 ที่นั่ง และไปลุ้นอีกรอบหนึ่ง อยากให้ธรรมเนียมที่ดีที่เราสร้างมาตั้งแต่พฤษภาคม 2535 เอากลับมาใช้ให้ได้คือนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. แล้วต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่ง

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาเมื่อไหร่ เรื่องการยุบสภาต้องรอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ก่อน ซึ่งกว่าจะลงมาก็คงเป็นช่วงเดือน ก.พ. 66 หรือไม่ เผลอๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาสัปดาห์สุดท้ายก่อนครบวาระ หรือช่วงกลางเดือน มี.ค. 66 เพราะถ้ายุบแล้วจะมีช่วงเวลาให้หายใจหายคอให้ ส.ส. ย้ายเป็นสมาชิกพรรค พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการยื้อให้นานที่สุด เพื่ออาศัยกลไกรัฐ ยกตัวอย่างการตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเป็นเลขาธิการนายกฯ จึงชัดเจนว่า เขาต้องการเข้ามาบริหารอำนาจอีกเฮือกหนึ่ง เพื่อส่งผลบางอย่างในการเลือกตั้ง