นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความสำคัญกับงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ซึ่งดูแลพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งพันธุกรรมของเสือโคร่งที่สำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ซึ่งนับว่าเป็นผืนป่าแห่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทยและโดดเด่นระดับโลก ด้วยคุณค่าและความสำคัญดังกล่าว การอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้เห็นถึงความสำคัญ เห็นคุณค่า และพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะการรณรงค์สร้างจิตสำนึก สร้างสื่อเพื่อให้ความรู้ในการอนุรักษ์เสือโคร่งในชุมชน สังคม

การรณรงค์การอนุรักษ์เสือโคร่งรวมถึงการเปิดตัวหนังสือ “ก่อนเสือโคร่งจะคำราม” ที่ได้ใช้เวลาในการทำงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 12 ปี ที่ควรค่าแก่การเผยแพร่และเป็นบทเรียนที่สำคัญในการทำงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยในอนาคตต่อไป ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่นี้และสนับสนุนงานการอนุรักษ์มาตลอดระยะเวลา 12 ปี และยังมีแผนงานในการสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยได้มอบนโยบายแก่ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย กล่าวว่า เสือโคร่ง สัตว์ป่าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญและการมีพลังและยังเป็นตัวแทนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งและได้รับการบริการทางนิเวศอย่างมหาศาลทั้งในด้านน้ำ อากาศ และอาหาร แต่อย่างไรก็ตามเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นการอนุรักษ์และการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนและเป็นความท้าทายที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ

โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกตอนบนของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการอนุรักษ์และทำงานเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยเป็นความร่วมมือระหว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึงปัจจุบัน ผลจากการทำงานกว่า 12 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าป่าตะวันตกตอนบนแห่งนี้เป็นผืนป่าแห่งความหวังในการอนุรักษ์เสือโคร่งที่มีความสำคัญระดับโลก

ด้านนายสุระชัย โภคะมณี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลานลาน เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติคลองลาน ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จัดทำกิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์เสือโคร่ง “ก่อนเสือโคร่งจะคำราม” (Before the Tiger Can Roar) เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกในคุณค่าความสำคัญของเสือโคร่งแก่นักเรียน เยาวชน ชุมชน เนื่องในปีเสือตามปีนักษัตร โดยเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สื่อการเรียนรู้ด้านเสือโคร่งและสัตว์ป่าผ่านหนังสือภาพและวิดีโอ “ก่อนเสือโคร่งจะคำราม” แลกเปลี่ยนแนวทางการอนุรักษ์เสือโคร่งของโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่ดำเนินการมากว่า 12 ปี และเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ด้านเสือโคร่งบูรณาการกับวิชาศิลปะ ผ่านการประกวดวาดภาพ ชมนิทรรศการกิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์เสือโคร่ง “ก่อนเสือโคร่งจะคําราม” กิจกรรมฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ได้แก่ ฐานบ้านเสือ ฐานรอยตีนสัตว์ป่า ฐานนักวิจัยน้อย ฐานทางของเสือ ให้น้องๆ นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้ โดยมีนักเรียนจากสถานศึกษาในเขต อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร และอ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย