กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ถือเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญ ก็คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการ รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง

ถึงแม้ว่าขณะนี้จะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน สรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่  แต่ทาง กทปส. ก็ได้ผู้บริหารคนใหม่ มาดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)  ก็คือ “ชาญวุฒิ อำนวยสิน”

ชาญวุฒิ อำนวยสิน

โดยได้โยกมาจากผู้อำนวยการสำนักการคลัง ของ สำนักงาน กสทช.  มานั่งตำแหน่ง ผู้อำนวยการ กทปส. คนใหม่ เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีทิศทางการบริหารกองทุนฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศไทยอย่างไร? วันนี้มีคำตอบ!!

“ชาญวุฒิ อำนวยสิน” บอกว่า ทางกองทุนฯจะยังคงวางทิศทางเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนในอนาคต ตามนโยบายให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามแผนงานที่ตั้งไว้ โดยยังคงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการกองทุนในระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) ซึ่งแผนดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการประเมินผล เมื่อดำเนินการได้ครึ่งทางของแผน โดยในปีนี้จะมีการ ประเมินผล ทบทวน ปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับนโยบายชาติ เช่น แผน AI แห่งชาติ รวมถึงนโยบายแห่งรัฐอื่นๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์ในการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ

“ปีนี้จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะและหวังให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างครอบคลุม รวมทั้งผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพื่อลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี”

ภาพ pixabay

 และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภคสอดคล้อง ตามนโยบายของรัฐ รวมถึงการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพงานวิจัยสู่การใช้งานจริง

สำหรับการจัดสรรกองทุนฯ นั้น ทาง ผู้บริหารของ กทปส. อธิบายว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา กองทุนฯ มีการจัดสรรทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเปิดให้ทุนประเภทที่ 1 ตามกรอบเงินทุน 400 ล้านบาท มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอ 113 โครงการ รวมวงเงิน 1,567,124,612 บาท ถือว่าผลตอบรับการขอทุนเป็นตามเป้าหมาย

ส่วนทุนประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นกรอบการให้ทุนเชิงยุทธศาสตร์ กำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 670 ล้านบาท แบ่งเป็น ภารกิจด้านกิจการโทรคมนาคม  200 ล้านบาท ภารกิจด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 200 ล้านบาท ภารกิจมุ่งเป้าของกองทุนวิจัยและพัฒนา 200 ล้านบาท ด้านคลื่นความถี่และดาวเทียม 70 ล้านบาท 

ซึ่งจะดำเนินการจัดให้ทุน 2 ครั้ง แบ่งเป็นครั้งที่ 1 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอแนะ นโยบายสาธารณะด้านการบริหารคลื่นความถี่กรณีการใช้คลื่นความถี่ย่าน C-band ในระยะยาว และโครงการจัดทำ แผนแม่บทการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะ 5 ปี  และครั้งที่ 2 จำนวน 11 โครงการ โดยจะเปิดให้ยื่นขอรับทุนประเภท 2  จนถึงวันที่ 30 ก.ย. นี้

โดยเป็นโครงการภายใต้ภารกิจด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เน้นในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชน รวมถึงกลุ่มคนพิการได้เข้าถึงเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์มีการรู้เท่าทันในสื่อ รู้เท่าทันโฆษณา

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน ถือเป็นการส่งเสริม ให้มีการติดอาวุธให้ประชาชนได้ป้องกันตนเองจากภัยในแต่ละด้าน

ภาพ pixabay

ผู้บริหาร กทปส.ยังบอกต่อว่า ภายใต้ทุนประเภทที่ 2 ยังมีอีก 2 รูปแบบ คือ ทุนต่อเนื่องด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะพิจารณาให้กับผู้ที่เคยรับทุนและ ต้องการต่อยอดงานวิจัย เพื่อให้ขยายผลในเชิงพาณิชย์ ปีนี้มีการกำหนด กรอบวงเงินไว้ที่ 30 ล้านบาท  และทุนสำหรับส่วนราชการ ซึ่งมีการยื่นข้อเสนอโครงการมาแล้วกว่า 21 โครงการ วงเงินรวม 507,674,185 บาท ขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณา

ขณะที่ทุนประเภทที่ 3  เป็นทุนตามนโยบาย กสทช. ซึ่งจากสถานการณ์์โควิด-19 ระบาด จึงกำหนดให้ทุน กับสถานพยาบาลของรัฐในการต่อสู้ภัยโควิด ซึ่งในปี 63 ได้มอบทุนไปแล้วกว่า 642,550,859 บาท ในปีนี้จะดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง และสุดท้าย คือ ทุนประเภท 4 เพื่อสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จำนวน 500 ล้านบาท

ทั้งหมดคือแผนงานจัดสรรกองทุนฯ เพื่อส่งเสริมปชช.เข้าถึงบริการโทรคมนาคมและให้เกิดประโยชน์ กับประเทศให้ได้มากที่สุด!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์