เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางในหลายภาคส่วน ทั้งยังเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกริยาให้เกิดรูปแบบวิถีชีวิตปกติใหม่ และเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันทุกกิจกรรมยังต้องเดินไปบนมาตรฐานความปลอดภัยทางสุขภาพด้วย นั่นจึงหมายความว่าวิถีชีวิตปกติที่เคยชินและการประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่มีการระบาดของไวรัสตอนนี้และการวางพื้นฐานในระยะยาวสำหรับโลกหลังยุคโควิดจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกร้องทักษะความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเพื่อฟื้นสภาพจากความเสียหายช่วงโควิดให้เร็วที่สุด

นายนคร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันอาชีพของคนไทยมีมากกว่า 800 อาชีพ ปัญหาเดิมคือส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการรับรองหรือมีการบ่งบอกมาตรฐานของอาชีพนั้น ทำให้การวางแผนเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ซึ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศทำได้ยาก จึงเป็นที่มาของการตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ โดยมีการวัดระดับขั้นความเชี่ยวชาญต่างๆ จากมืออาชีพในสายงานนั้นๆ ที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจัดทำกระบวนการทดสอบ ระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่ตั้งขึ้นจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้มาเทียบวัดมาตรฐานหรือประเมินความเป็นมืออาชีพในสาขาของตนเอง เพราะถึงแม้บางคนจะไม่มีวุฒิการศึกษา แต่ถ้ามีทักษะในวิชาชีพที่สูงและมีใบรับรองนี้ก็สามารถนำไปยืนยันตนเอง เพื่อให้ได้ตำแหน่งงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะเดียวกันฝั่งผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมก็สามารถสรรหาบุคคลากรที่มีความสามารถตรงตามศักยภาพที่ต้องการได้ ซึ่งมาตรฐานนี้จะเป็นมาตรฐานสากลที่นำไปใช้กับสายงานในต่างประเทศได้ด้วย ดังนั้น หลังโควิดเมื่อมีการเปิดประเทศ ภาคเศรษฐกิจจะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหรือหมายถึงความต้องการบุคลกรจำนวนมาก ยิ่งมีความเป็นมืออาชีพมากและชี้วัดรับรองได้ด้วยองค์กรของรัฐก็จะยิ่งได้เปรียบและเป็นที่ต้องการตัว”

นายนคร กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาคุณวุฒิทางวิชาชีพแล้ว ก้าวต่อไปของสถาบันคือการรับรองในเชิงพื้นที่ด้วย เพราะความเป็นมืออาชีพในบางมิติอาจไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่เกี่ยวเนื่องกันไปเป็นเครือข่ายชุมชน ย่าน หรือท้องถิ่น ที่มีผลิตภัณฑ์ มีงานหรือมีอาชีพที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เกาะกลุ่มกันสะท้อนศักยภาพพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการยืนยันรับรองหรือหนุนเสริมในด้านที่ขาด เพื่อทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งมืออาชีพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือความเป็นจุดเด่นของพื้นที่เหล่านี้สามารถเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ เช่น ภาคเหนือ มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม มีวัฒนธรรมเข้มแข็งที่สามารถพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง อาจเป็นการรับรองในสาขาวิชาชีพการท่องเที่ยวท้องถิ่น Street Food หรือเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความโดดเด่นในกลุ่มอนุรักษ์งานผ้าทอ อย่างกรุงเทพฯ ก็มีย่านเก่าแก่ สมควรแห่งการเป็นเมืองมืออาชีพด้าน Street Food หลายย่าน ไม่ว่า ตลาดพลูหรือเยาวราช ก็เข้าลักษณะนี้ ส่วนภาคใต้ซึ่งมีความหลากหลายของฐานทรัพยากร ก็อาจเกิดเมืองมืออาชีพ เช่น สาขาการท่องเที่ยว การจัดการยางพารา หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เป็นต้น

“ทั้งการรับรองมาตรฐานวิชาชีพและยกระดับชุมชนท้องถิ่นให้เป็นเมืองมืออาชีพ คือการปรับโครงสร้างของประเทศให้มีความพร้อมด้านบุคลากรและพื้นที่เพื่อสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้ เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเก่ง ขายเก่ง หรือ ซื้อเป็น ขายเป็น มีบริการเป็นเลิศ สามารถสร้างนวัตกรรมในโมเดลธุรกิจ สร้างนวัตกรรมในเชิงสินค้าและบริการ สร้างนวัตกรรมในเชิงกระบวนการผลิตและบริการ โดยระบบคุณวุฒิวิชาชีพของสถาบันจะเป็นแรงหนุนเสริมสำคัญ ซึ่งในระหว่างที่มีสถานการณ์โควิด มืออาชีพของเราหลายคนประสบปัญหาเช่นกัน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจึงได้นำแอปพลิเคชันปักหมุดมืออาชีพ หรือ propin เข้าไปช่วยเสริมเพื่อให้มืออาชีพที่ผ่านการรับรองจากเราอยู่ในระบบ คนที่โหลดแอปฯ นี้ก็จะสามารถค้นหาและใช้บริการจากมืออาชีพสาขาต่างๆ ได้ ตรงนี้เป็นการปรับนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้สะดวกและสร้างความคุ้นเคยให้กับมืออาชีพ และผู้บริโภคก็จะได้รับบริการหรือสินค้าที่ผลิตจากมืออาชีพตัวจริงเสียงจริง นอกจากนี้ เราก็จะเข้าไปช่วยในเรื่องสายป่านทางธุรกิจ เพราะเรารู้ว่าหลายคนอาจหยุดชะงักในการประกอบอาชีพ สถาบันจึงได้ร่วมกับธนาคารออมสินในการนำใบรับรองคุณวุฒิ ซึ่งถือเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ เพราะการมีวิชาชีพติดตัวก็ถือเป็นมูลค่าหนึ่งที่ตอบโจทย์สถาบันการเงินว่าเขาจะมีความสามารถจ่ายเงินคืนได้ในอนาคต เพียงแต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์โควิดเขาอาจต้องหยุดชะงักไปบ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอีกส่วนหนึ่งคือการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับอนาคต เช่น การร่วมกับ Global Healthcare Accreditation จัดอบรมออนไลน์ผ่าน ZOOM ในหลักสูตรพัฒนาบุคลากรมืออาชีพเพื่อเป็น Wellness Destination เพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน HR ในการยกระดับโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย เพื่อช่วยให้โรงแรมสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในอุตสาหกรรม และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว เป็นการยกระดับสถานประกอบการสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเป็น Wellness Travel Destination ที่สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งเราเชื่อว่าธุรกิจสุขภาพจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในอนาคตหลังวิกฤตโควิด อย่างแน่นอน” ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการประเมินวิชาชีพ เพื่อเป็นมืออาชีพกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tpqi.go.th สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 1177 อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 14 (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอารีย์) ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. 02-035-4900, 063-373-3926