ผู้สื่อข่าว รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านโควิด-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่องการรักษาพยาบาลและระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใน Home Isolation ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ(พิเศษ).ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ให้การต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้หารือและมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานกับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิการบดี และคณะนักวิจัย 

ศ(พิเศษ).ดร.เอนก กล่าวว่า สถานการณ์โควิด – 19 ที่เราเจออยู่นี้ คือ การดิสรัปชั่น (Disruption ) ด้านการสาธารณสุขที่ประสบพบเจอไปทั่วโลก และใช้เวลายาวนานที่กว่าที่แต่ละประเทศจะเริ่มบริหารจัดการได้ ทำให้การต่อสู้ในสงครามโควิดจากที่เราเคยเป็นฝ่ายรับในช่วงแรก ตอนนี้เราอยู่ในช่วงยันแล้ว จนสถานการณ์โควิดของไทยเริ่มคงที่ ตัวเลขคนหายป่วยกลับบ้านเริ่มมากกว่าคนติดเชื้อใหม่ ตนเชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนประเทศไทยก็จะสามารถบริหารจัดการให้เข้าสู่ภาวะปกติได้

“อว.เป็นแนวหลัง กองหนุนทั้งคุณภาพปริมาณ ที่พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทั้งการพัฒนานวัตกรรมห้องicu ความดันลบเคลื่อนที่ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งในวิกฤติเราก็สามารถพัฒนาศักยภาพด้านนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว ผลิตออกมาใช้ได้ทันการณ์ โครงการ อว.พารอด เปลี่ยนกลุ่มที่ “รอ” เป็น “รอด”ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนของ อว.สู้โควิด อาทิ ส่งกล่อง อว.พารอดที่มียาและอุปกรร์ที่จำเป็นเพิ่มเติมจากที่โรงพยาบาลมีให้ สร้าง Community Isolation ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมจากการติดต่อตามปกติเพื่อสอบถามอาการประจำวันของบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะเป็นการส่งกำลังใจจากอาสาสมัครผู้ที่เคยป่วยแต่หายแล้ว มาพูดคุยแชร์ประสบการณ์ นอกจากนี้ยังให้บริการตรวจคัดกรอง สนับสนุนทางห้องปฎิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรองและการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน จัดรถตรวจเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปใช้ที่ รพ.สนาม เป็นต้น” รมว.กล่าวและว่า

ที่สำคัญ อยากจะบอกข่าวดีว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะปลดล็อกหรือให้ข้อยกเว้น ปรับระบบราชการ กฎหมายระบบยุติธรรมให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอให้ทุกคนเชื่อมั่นได้ว่ารัฐบาลกำลังทำงานอย่างเต็มที่และสู้ไปด้วยกัน เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในระยะการทดสอบในมนุษย์รวม 4 ชนิด โดยเฉพาะร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย แต่ละชนิดจะมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง คือชนิดแรกวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เดือน ส.ค.นี้ ตั้งเป้าไว้จะเริ่มได้ใช้ฉีดวัคซีนในกลางปีหน้า ชนิดที่ 2 คือวัคซีนพัฒนาจากเซลล์ใบยาสูบ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ในเดือน ก.ย.และ ธ.ค.2564 ชนิดที่ 3 วัคซีน DNV-HXP-S วัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยองค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มทดสอบในมนุษย์แล้ว คาดว่าจะสำเร็จช่วงกลางปี 2565 และ วัคซีนโควิเจน วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชียจำกัด จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะแรกเดือน ต.ค.นี้ นับว่าเป็นความหวังของไทย ในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 และป้องกันการระบาดระลอกต่อไปด้วย.