เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ธ.ค. ที่ห้องบางกอกไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง กรุงเทพมหานครจัดแถลงข่าวกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ 9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 ส่งท้ายปี และทิศทางก้าวต่อไปในปี 2566 โดย น.ส.ทวิดา กมลเวช นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธ์ุ ผิวงาม และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ซึ่งคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานตามนโยบายประมาณ 6 เดือน 21 วัน ทั้งนี้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วย ด้านปลอดภัยดี ด้านสุขภาพดี ด้านสิ่งแวดล้อมดี ด้านเรียนดี ด้านบริหารจัดการดี ด้านเดินทางดี ด้านโครงสร้างดี ด้านเศรษฐกิจดี และด้านสร้างสรรค์ดี

น.ส.ทวิดา กล่าวว่า สำหรับด้านสุขภาพดี ปัจจุบัน กทม.ได้เปิดให้บริการ One stop service สำหรับผู้พิการ โดยสามารขึ้นทะเบียนคนพิการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานเขต เหมือนในอดีตซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการ 9 แห่ง ใช้เวลาระยะเวลาดำเนินการครึ่งวันทำให้ย่นระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากเดิมได้

สำหรับ Telemedicine ให้บริการ ปรึกษา ตรวจรักษาตรวจสอบสิทธิ นัดหมาย จองคิว และส่งต่อข้อมูล โดยเปิดใช้ 9 แห่ง มีผู้รับบริการแล้ว 45,583 ราย โดยในปีหน้าจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 แห่ง เตรียมขยาย BKK Pride clinic จากเดิมเปิดให้บริการแล้ว 11 แห่ง ตั้งแต่เดือน ก.ค.-พ.ย.65 ซึ่งมีผู้ใช้บริการแล้ว 4,619 ราย และเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง

ส่วนด้านปลอดภัยดีขณะนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำ BKK Risk Map แผนที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 เรียบร้อย และเปิดข้อมูล 5 ภัย ประกอบด้วยอุทกภัย อัคคีภัย จุดเสี่ยง และอันตรายความปลอดภัยทางถนน และมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของ BKK List Map ได้ตั้งแต่วันนี้ ผ่านลิงก์ http://shorturl.asia/7ERBr

ขณะที่ นายวิศณุ กล่าวถึงงานโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยการบริหารจัดการน้ำ ความปลอดภัยและการจราจร การปรับปรุงทางเท้า และการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยขณะนี้ได้มีการปรับปรุงทางเท้าและทางวิ่ง 500 กม. ตอนนี้ทำแล้ว 20 กม. ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ดำเนินการแล้วเสร็จ 161.56 กม. ใน 37 เส้นทาง ในปี 66 จะดำเนินการ 442.62 กม. และดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินแล้ว 6.3 กม.ปีหน้าจะทำอีก29 กม. ซึ่ง กทม.ประสานงานใกล้เคียงกับการไฟฟ้านครหลวง และ กสทช. จัดทำแผนที่ 100 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และการดำเนินการเชิงป้องกันในการแก้ปัญหาจุดเกิดรถติด 266 จุด โดยทำงานร่วมกับ บช.น. มูลนิธิ ITIC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้าน นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงการดำเนินการนโยบายสวน 15 นาที ว่า ปัจจุบันยืนยันให้เข้าใช้บริการในพื้นที่แล้ว 98 แห่ง และเปิดใช้งาน 13 แห่ง สำหรับจุดผ่อนผัน 95 จุด แล้วเสร็จ 55 จุด กำลังดำเนินการ 31 จุด และขอทบทวน 9 จุด และเมื่อสำรวจแล้วพบว่า มีร้านค้านอกจุดผ่อนผันทั้งหมด 618 จุด จาก 50 เขต จำนวนผู้ค้า 13,964 ราย รวมถึงจัดเก็บข้อมูลผู้ค้าโดยใช้ QR code และขอความร่วมมือให้ผู้ค้าทำความสะอาดบนทางเท้า


นอกจากนี้ยังได้สำรวจพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์อาหาร Hawker Cenbbter 125 จุด ภายใต้หลักการสะดวก สะอาด สนุก โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 จุด คือ เขตมีนบุรี และสวนลุมพินี ประตู 5 คาดว่า อีกไม่เกิน 3 เดือนจะเห็น Hawker Center ใน 2 จุดนี้

ส่วนนายศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเปิดรับสมัคร อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.)ประจำชุมชนปัจจุบันมีจำนวน 266 คน จาก 31 เขต มีการจัดทำ BKK food bank ใน 50 เขตโดยมี 10 เขตนำร่อง ที่เป็นการบริจาคให้กลุ่มคนไร้บ้านแบบประจำ และมีการส่งเสริมอาชีพสร้างแรงงานให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและสร้างผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมการให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนขายในออนไลน์ 93 ร้านค้า มียอดขาย 1.85 ล้านบาทใน 1 เดือนที่ผ่านมา.