สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองเฉิงตู ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ว่า บริษัท ไชนา ธรี กอร์เจส คอร์ปอเรชัน (ซีทีจี) ของจีน รายงานว่า สถานีไฟฟ้าพลังน้ำไป๋เฮ่อทาน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ในแง่กำลังการผลิตติดตั้งรวม เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ บริเวณตอนบนของแม่น้ำแยงซี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน


การเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบครั้งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุด ของการก่อสร้างระเบียงพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยสถานีไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง บนแม่น้ำแยงซี ที่ดำเนินงานจัดส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ทางตะวันตกอันอุดมด้วยทรัพยากร ไปยังบรรดาภูมิภาคที่ใช้พลังงานมาก ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ


สถานีไฟฟ้าพลังน้ำไป๋เฮ่อทานเปิดดำเนินงานเต็มรูปแบบ หลังหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งสุดท้ายจากทั้งหมด 16 หน่วย เสร็จสิ้นการทดลองเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น โดยไป๋เฮ่อทานเป็นสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีน รองจากโครงการเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของมณฑลหูเป่ย์ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 16 ล้านกิโลวัตต์


นายเหลย หมิงซาน ประธานบริษัทซีทีจี กล่าวว่า ไป๋เฮ่อทานแสดงถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ของจีน เนื่องจากมีการติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังน้ำผลิตเองถึง 16 หน่วย ที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านกิโลวัตต์ต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นกำลังการผลิตหน่วยเดียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


การดำเนินงานเต็มรูปแบบของไป๋เฮ่อทานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของจีน การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี และการพัฒนาแบบผสมผสานของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค


ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าสถานีไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง บนแม่น้ำแยงซี และอยู่ภายใต้การบริหารโดยซีทีจี จะผลิตไฟฟ้าได้รวมกัน 3 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งช่วยลดการใช้ถ่านหินลง 90 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 248 ล้านตัน


อนึ่ง สถานีไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วยสถานีไฟฟ้าพลังน้ำอูตงเต๋อ ไป๋เฮ่อทาน ซีลั่วตู้ และเซี่ยงเจียป้า ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำจินซาน ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซี และสถานีไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสามผาและเก่อโจวป้า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของแม่น้ำแยงซี

สถานีไฟฟ้าพลังน้ำทุกแห่งก่อตัวเป็นระเบียงพลังงานสะอาดความยาว 1,800 กิโลเมตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญด้านการควบคุมน้ำท่วม การเดินเรือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ ตลอดจนความมั่นคงทางระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำแยงซี.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA