สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลำบากยากไร้และด้อยโอกาสให้ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตจนดีขึ้น ในห้วงเวลาดังกล่าวยังทรงได้บันทึกภาพจากสิ่งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรในสถานที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการต่อเนื่อง ทำให้ชาวไทยได้มีโอกาสประหนึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับปี 2565 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จัดเป็นครั้งที่ 16 ภายใต้ชื่อ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ในระหว่างปี 2564-2565 ประกอบด้วย ภาพแขวนผนัง 150 ภาพ ภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์ 106 ภาพ อาร์ต วอลล์ 10 ภาพ โอกาสนี้ เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2565 “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานเอกชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า “ดีใจที่ได้กลับมาอีกครั้ง ปีนี้ก็อย่างที่เขียนไว้ในคำนำว่า เป็นปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลค่อนข้างจะนาน ด้วยโรคโน้นโรคนี้จนจำไม่ได้ว่าเป็นอะไรบ้าง และปีนี้เป็นปีอย่างที่ทราบกับว่า มีเรื่องโควิดที่ทำให้เดินทางไปไหนๆ ไม่ค่อยได้ นอกจากประเทศไทย ก็ไปต่างประเทศ 4 หน ซึ่งน้อยกว่าปกติ บางรูปจำไม่ได้แล้ว รูปนี้คืออะไร ก็อาจเดาๆ ถูกบ้างผิด ก็ช่วยแก้หลังไมค์ก็แล้วกัน (พระสรวล) ส่วนภาพที่เป็นตัวอย่างที่จะฉาย ปีนี้เป็นอย่างเดียวกับปีที่แล้ว นอกจากภาพถ่ายก็จะมีภาพการ์ตูนอยู่บางส่วน ซึ่งการ์ตูนของปีนี้ เป็นตามที่ในอินเทอร์เน็ตบอกว่า วันนี้เป็นวันอะไร ก็เขียนรูปไปตามนั้น จะดูออกบ้างดูไม่ออกบ้างก็เดาๆ กันไป” ภายหลังทรงบรรยายจบ มีรับสั่งว่า “ขอบคุณทุกท่านที่มาในวันนี้ เชิญถ่ายภาพในนิทรรศการได้ตามสบาย หวังว่าวันหน้าจะได้จัดอีก ขอบคุณมาก”

สำหรับภาพถ่าย ฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2565 ที่ทรงบรรยายนั้น อาทิ ภาพนักเรียนที่ปลูกพืชกับพี่ทหารที่กรมพลาธิการทหารบก  รับสั่งว่า “ภาพเป็นรูปนักเรียนที่โครงการทหารพันธุ์ดี ที่ปากช่อง เขาก็ไปสอนเด็กนักเรียนปลูกผัก และมีวาดภาพประกอบ เด็กๆ ก็สนุกสนาน และเอาไปทำที่บ้าน ก็เป็นที่พอใจของนักเรียนและผู้ปกครอง เด็กคนนี้ก็เป็นตัวแทนของเด็กนักเรียนที่มาเรียน จริงๆ แล้วที่ปากช่องก็เตรียมงานอย่างดีจะไป ก็เกิดป่วยไปไม่ได้ แต่พอออกมาจากโรงพยาบาลก็ไปเยี่ยมใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

ภาพ วังสระปทุม แพนี้ของเต่ากับตะพาบต่างหาก น้องวรนุสมาทำไม รับสั่งว่า “นี่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงวังสระปทุม (พระสรวล) แพทำให้เต่ากับตะพาบไว้กินผักขนมปัง ตัวนี้มายังไงก็ไม่ทราบ เจ้าหน้าที่บอกว่ามีเยอะเกินไป ควรจับไปปล่อยอุทยานบ้าง เหมือนงูเหลือม นับตั้งแต่มาอยู่วังสระปทุม 23 ปี ก็ได้เห็นมา 132 ตัว ตอนแรกก็อยากจะเลี้ยงแต่คนอื่นเขาบอกว่า ไม่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับงู ก็ยื่นคำขาด ก็เลยให้ไปอยู่กับอุทยานแห่งชาติ

“ตัวสุดท้ายยาวประมาณ 4.1 เมตร ก็นอนนิ่งที่กลางลำตัวมีก้อนตะปุ่มตะป่ำอยู่ ตอนแรกก็ตกใจนึกว่ากินแมวต่างๆ ที่เลี้ยงไว้ แต่ตัวที่ตั้งชื่อไว้อยู่ครบ ผู้สัดทัดกรณีตรวจท้องคาดนาจะใหญ่กว่าแมว ก็เข้าใจว่าเป็นตัวเงินตัวทอง ในวังสระปทุม ก็กินกันไปกินกันมา แมวที่อยู่ในวังสระปทุมมานาน ที่ชื่อ “ใบตอง” ก็กินลูกตัวเงินตัวทอง ไม่ทราบว่า ทำไมกินเก่งขนาดนั้น” กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่า

ด้านภาพ การแสดงที่งานเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง พระองค์ตรัสว่า “การไปต่างประเทศปีนี้ไปได้ 4 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอนแรกบอกท่านทูตว่าไม่ค่อยสบาย ไปไม่ไหว ท่านทูตบอกว่า ไหวสิ ก็บอกว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ท่านทูตก็บอกว่าห้องน้ำเต็มไปหมดเลยเยอะแยะ ขาก็ไม่ลำบากมีคนพยุง ก็แก้ได้หมดทุกเรื่อง ไปตรวจแล้วไม่มีความต้านทานโควิด ฉีดยาไม่ได้ผล เขาบอกว่าไปถึงเจอ ความต้านทานก็มาเอง ในที่สุดก็ไปฉีดวัคซีนเพิ่ม ตรวจภูมิเริ่มมี เลยบอกท่านทูตว่าไปได้แล้ว สำหรับทีมไทยไปแข่งแพ้ชนะไม่สำคัญ แต่เราก็มีนักกีฬาที่ไปแข่งได้สมศักดิ์ศรี

 แม่น้ำสะแกกรัง มีเรือนแพ ภาพนี้พระองค์รับสั่งว่า “ไปบ้านที่อุทัยธานี แถวนี้มีเรือนแพหลายหลัง ตรงทางเดินเลียบแม่น้ำสะแกกรัง เช้าๆ เย็นๆ เดินออกกำลังกาย ก็จะเจอแมวเยอะแยะไปหมด เพื่อนบ้านล้วนแต่มีแมวกัน ก็ทักทายแมวเพื่อนบ้านทุกวัน ทำให้ปีนี้มีรูปแมวหน้าใหม่เยอะสักหน่อย ไม่รู้หมาจะตกกระป๋องไปหรือเปล่า มีหมาน้อยกว่ามีแมว

ภาพ ฝูง ดร.สุเมธ งานแสดงภาพ รับสั่งว่า “ดร.สุเมธ เป็นเจ้าเก่า แต่คราวที่แล้วถ่ายแบบออนไลน์ แต่คราวนี้ตัวจริงเสียงจริงมา เดี๋ยวถ่ายรูปเพิ่มเติม นับไม่ค่อยถ้วนว่ามีดร.สุเมธกี่คน”

สำหรับ ภาพทหารที่ดูแลอยู่ฐานปางหนุน พระองค์รับสั่งว่า “อันนี้ย้ายไปที่เชียงราย แม่ฟ้าหลวง ทหารที่ดูแลชายแดน ทหารก็รายงาน ว่าไม่มีปัญหาอะไรมาก ใช้ตรงนั้นเป็นโครงการปลูกชาน้ำมันเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม แต่ก็มีปัญหานิดหน่อย ชาที่ปลูกไม่ใช่ชาใช้ดื่ม แต่เป็นชาน้ำมัน ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น “ชาคามิเลีย” รูปแบบขวด แบรนด์ก็เปลี่ยนไป เร็วๆ นี้ ลูกค้าแฟนขาประจำ ทำกับข้าวก็บอกว่า หาซื้อยากจังเลย ชาน้ำมันหาไม่มีแล้ว ก็บอกว่า ชาน้ำมันเหมือนกับชาคามิเลีย กว่าจะอธิบายกันได้ก็นานเหมือนกัน ก็บอกทีมงานว่า ต้องประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนชื่อให้เก๋หน่อย แต่แฟนเก่าก็ข้องใจว่าคืออะไร”

รวมทั้ง ภาพ Ecole Cantonale d’agriculture, Pont-de-la-Morge รับสั่งว่า “ไปที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่นี่จะมีวิทยาลัยที่ทำเอ็มโอยูร่วมกับวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มี 3 แห่ง เขาสลักชื่อของทุกคนที่ไปในลูกแอปเปิลไว้ให้ ที่นี่ก็น่าสนใจ นอกจากเป็นวิทยาลัยอย่างธรรมดาแล้ว พื้นที่ยังมีเกษตรกรที่ทำงานเกษตร แปรรูปไม้ผล เป็นน้ำผลไม้ และชาวบ้านก็จะมาอธิบายเอง มีงานขายของด้วย คราวหน้าจะไปอีกสองแห่งที่ทำเอ็มโยูแล้วที่ยังไม่มีเวลาไปเยี่ยม สำหรับภาพ แอปเปิลพระนามาภิไธย Ecole Cantonale d’agriculture ทรงบันทึกผลแอปเปิลแกะสลักพระนามาภิไธย รับสั่งอย่างมีพระอารมณ์ขันว่า “เขาทำให้เป็นพิเศษ อร่อยด้วย ก็ชิมตัวเองไปแล้ว”

ภายหลัง ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” โอกาสนี้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition สีเหลือง เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โอกาสนี้ ทรงนำกล้องไลก้าชุดสีเหลืองดังกล่าวทำการบันทึกภาพ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา คู่กับภาพ “ฝูง ดร.สุเมธ งานแสดงภาพ” ด้วย นอกจากนี้ ยังทรงจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ประจำปี 2565 แก่ผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย

นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” ประจำปี 2565 เปิดให้เข้าชมระหว่างวันนี้ถึง 19 มี.ค. 2566 (หยุดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.และมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” ในราคาเล่มละ 900 บาท  ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน) และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้รายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย.