สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์ภาพรวมงบประมาณการใช้สื่อปี 2564 ลดลง 2.7% โดยมีภาพรวมการใช้สื่ออยู่ที่ 101,738 ล้านบาท สำหรับปี 2564 นี้ ดร. ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยคนใหม่ (Media Agency Association of Thailand : MAAT) เปิดเผยถึงปัจจัยลบที่จะส่งผลให้ตัวเลขการใช้สื่อโฆษณาลดลงจากที่สมาคมฯ เคยคาดการณ์ว่าจะเป็นบวกจากงบการใช้สื่อในครึ่งปีแรกที่มีภาพบวกกว่า 5.2% โดยมีการคาดการณ์ปีนี้ว่าภาพรวมจะถดถอยลงไปไม่มากที่ 2.7% เทียบจากปีที่แล้ว

“ภาพรวมสถานการณ์การระบาดระลอกล่าสุด ของ COVID-19 จะส่งผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจนในไตรมาส 3 และต่อเนื่องไปถึงต้นไตรมาสที่ 4 ที่เศรษฐกิจยังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้าจนโรงพยาบาลที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับคนป่วยที่ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล อีกทั้งมาตรการควบคุมการระบาดที่จะต้องเข้มงวดขึ้นทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักมากขึ้น อีกทั้งการระบาดที่เริ่มแผ่ลามถึงภาคการผลิตและภาคบริการทำให้มีผลกระทบมาที่ทุกมีเดียเอเยนซี่ที่ต้องมีการปรับแผนงานช่วยเหลือให้ลูกค้าเจ้าของสินค้าและบริการตามสถานการณ์ ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้ลดลงโดยเร็วด้วยการร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนออกมาทำโรงพยาบาลสนามมากขึ้น ตลอดจนการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุดเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถค่อยๆกลับมาดำเนินต่อได้มากขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด”

นางสาวกนกกาญจน์ ประจงแสงศรี ที่ปรึกษาสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย เสริมว่า “เมื่อพิจารณางบประมาณการใช้สื่อในปี 2564 ประกอบกับภาพการระบาดอย่างต่อเนื่องของสายพันธุ์เดลต้า สื่อโฆษณาที่แทบทุกสื่อจะอยู่ในสภาพลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เป็นไปตามผลกระทบของ CODIV-19 ที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค มาตรการเพื่อความปลอดภัย ที่ส่งผลให้สื่อหลักอย่างสื่อโทรทัศน์ (รวมเคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) ลดลงเพียงเล็กน้อยแค่ 3% สื่อกลางแจ้ง (Outdoor) ลดลงใกล้เคียงกันที่ 4% ในขณะที่สื่อโรงภาพยนต์ (Cinema) ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีแล้วอีก 26% รวมถึงสื่อเคลื่อนที่ (Transit) ที่ลดลง 18% และสื่อนิตยสาร (Magazine) 16% จากมาตรการล็อกดาวน์และนโยบายเวิร์คฟรอมโฮม ในขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ จะยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องอีก 14% และสื่อ ณ จุดขาย (In-Store) ที่จะกลับเป็นบวกที่ 4%

นางสาวกนกกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ปัจจัยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมโฆษณาปี 2564 โดยตรงคือ GDP ที่เติบโตแค่ 0.7% ส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องการใช้จ่ายของประชาชนและธุรกิจโดยรวมถึงแม้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐต่างๆ และการใช้สื่อของนักการตลาดที่จะต้องมีความหลากหลายในการเลือกใช้กลยุทธเพื่อเข้าถึงการใช้ชีวิตแบบ new normal ของผู้บริโภคประกอบกับการวัดผลของนักการตลาดที่หลากหลายมิติมากขึ้นในทุกแพลตฟอร์มโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการใช้โซเชียลคอมเมอร์สให้เป็นประโยชน์กับกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงนี้”

นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ได้ประเมินการขยายตัวของค่าสื่อ (Media Inflation) ในครึ่งปีหลังของปี 2564 ค่าสื่อส่วนใหญ่ยังคงราคาไว้ที่ราคาเดิมจะมีเพียงสื่อโทรทัศน์โดยรวม ที่จะการปรับขึ้นประมาณ 3.6% ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์จะลดลงไปอีก 4%

ดร. ธราภุช ได้กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า “ถึงแม้ปี 2564 จะเป็นอีกปีที่ทุกธุรกิจยังจะต้องดำเนินต่อไปด้วยความลำบากที่ต้องเผชิญปัญหาที่ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั่วโลก และทุกอุตสาหกรรม แต่เราต้องมองปัญหาในมุมใหม่เพื่อเป็นโจทย์ความท้าทายที่ นักการตลาด นักวางแผนสื่อที่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวด้วยกลยุทธใหม่ๆ ที่เฉียบคมด้วยความเข้าใจในผู้บริโภคและการวางแผนสื่ออย่างแยบยลบริหารจัดการเม็ดเงินที่มีให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและคุ้มค่าความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ในยุค new normal ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ทุกคนทั้งนักการตลาด และเอเยนซี่ต้องให้ความสำคัญของผู้บริโภคมาก่อน ถ้าผู้บริโภคอยู่ได้ แบรนด์ ธุรกิจ สื่อและเอเยนซี่ก็จะอยู่ได้ ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ”