เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ในความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, กีดขวางทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจร, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563
จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 มีการชุมนุมที่แยกเกษตรและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและฝากขังในคดีจากการชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ช่วงดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
และได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวน 19 คน ในคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน ทำให้มีประชาชนไปรอรับ โดยรวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าประตูเรือนจำกลางคลองเปรม ตำรวจ สน.ประชาชื่น มีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมจำนวน 3 รายดังกล่าว และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564
วันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาล
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อความไม่ปรากฏข้อความใด อันมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กิจกรรมดังกล่าวมีเพียงการติดป้ายหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีนักศึกษา 20 คน ร่วมกันกินลาบ และมีสื่อมวลชน 40 คน ไม่ ปรากฏกรณีที่มีการกระทำรุนแรง เป็นเพียงการนัดกันให้กำลังใจผู้ต้องขังและจัดกิจกรรม เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ลงข้อความและภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊ก จึงมิใช่การเชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2, 3 มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกินลาบก้อยที่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันจัดการชุมนุมบริเวณดังกล่าว แม้ต่อมาจะได้ความจากพยานโจทก์ว่า หลังจากกิจกรรมกินลาบก้อยเสร็จแล้ว มีประชาชนบางส่วนเดินทางไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากได้ทราบข่าวว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทั้ง 19 คน จึงพากันมารับ ประกอบกับมีประชาชนมาสมทบอีกบางส่วน จนมีผู้เข้าร่วมบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมประมาณ 300 คน ก็ตาม แต่พยานโจทก์ปากตำรวจรายหนึ่งเบิกความว่าพบจำเลยที่ 1 กำลังพูดคุยกับผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม แล้วหันมาพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า จะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง 19 คน เวลา 21.00 น. จำเลยทั้งสามไม่ได้มีการปราศรัย พยานไม่เห็นป้ายหรือข้อความเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด ผู้ชุมนุมแต่ละคนจะทำกิจกรรมหรือแสดงสัญลักษณ์อะไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนทำขึ้นเอง ส่วน พยานโจทก์ปากตำรวจอีกปากเบิกความว่า จำเลยที่ 2-3 พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ให้กำลังใจผู้ชุมนุมให้สู้ต่อไป
เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกันว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ย่อมเป็นบุคคลที่มีผู้รู้จักจำนวนมาก การที่มีประชาชนมารวมตัว กันถึง 300 คน เพื่อต้อนรับบุคคลดังกล่าวหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นสถานที่ปล่อยตัว นับเป็นเรื่องปกติ มิใช่เป็นการชุมนุมหรือกระทำการใดอันทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม
ทั้งพยานโจทก์ก็เบิกความทำนองว่าจำเลยที่ 1 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงเป็นเพียงแจ้งว่า ผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนจำเลยที่ 2-3 ก็เพียงแต่เป็นการพูดให้กำลังใจเท่านั้น เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามที่ว่า เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจึงเดินทางมาที่เรือนจำกลาง เชื่อว่าเป็นการเดินทางมารับผู้ต้องขังและช่วยดูแลความเรียบร้อยในกลุ่มที่มารอรับเท่านั้น มิได้เป็นการเข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด แม้กลุ่มคนดังกล่าวยืนกีดขวางทางเท้าและกีดขวางช่องทางจราจรบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและเรือนจำกลางคลองเปรมบ้าง แต่เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามมิได้จัดการชุมนุมและร่วมชุมนุมแล้ว ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบว่า จำเลยทั้งสามกระทำการอันใดอันเป็นการกีดขวางทางเท้าหรือทางใด ๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้า จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามใน ความผิดฐานนี้ได้
วินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ แม้ได้ความจากทางนำสืบของโจทกและจำเลยทั้งสามตรงกันว่า จำเลยทั้งสามกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงก็ตาม ซึ่งตาม พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 บัญญัติให้ขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้ แต่พนักงานสอบสวนกลับเบิกความว่าพยานไม่ได้ตรวจสอบเป็นหนังสือไปยังสำนักงานเขตจตุจักร ว่า มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าเป็นของผู้ใด กรณีจึงมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานนี้หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง