สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า นอกเหนือจากอุณหภูมิที่สูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า ตั้งแต่ในกรุงปารีส ไปจนถึงกรุงลอนดอน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอ) ยังพบว่า อุณหภูมิที่สูงเช่นนี้ “แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย” หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ในอดีต คลื่นความร้อนเมื่อปี 2546 ทำให้ผู้เสียชีวิตเกินปกติมากกว่า 70,000 รายทั่วยุโรป โดยส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส และส่งผลให้หลายประเทศประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น ระบบเตือนภัยล่วงหน้า, การร้องขอให้ประชาชนตรวจสอบผู้อื่น และการเปิดโรงเรียนปรับอากาศ

แม้ว่าสิ่งเหล่านี้และแผนดำเนินการที่เกี่ยวข้องกัน อาจบรรเทาผลกระทบของคลื่นความร้อนในปีนี้ได้บางส่วน แต่นางโคลเอ บริมิคอมเบ นักวิจัยคลื่นความร้อนจากมหาวิทยาลัยกราซ ในออสเตรีย กล่าวว่า ยอดผู้เสียชีวิตยังคง “สูงกว่าที่คาดไว้” และมองว่ามันเป็นคลื่นความร้อนที่มีผลกระทบมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2546 อีกด้วย

เนื่องจากทางการของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ ระบุสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนมากว่า “เกิดจากความร้อนโดยตรง” นักสถิติจึงใช้ตัวเลขที่เกินมาเหล่านี้ในการประมาณการ โดยดูว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาที่กำหนดมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับข้อมูลพื้นฐานในอดีต

ด้านองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ทบวงการชำนัญพิเศษด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุในเดือนนี้ว่า ยุโรปร้อนขึ้นมากกว่า 2 เท่าของพื้นที่อื่นทั่วโลก ในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ “โคเปอร์นิคัส ไคลเมต เชนจ์ เซอร์วิส” (ซี3เอส) ซึ่งเป็นสำนักงานบริการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนของปีนี้ ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์.

เครดิตภาพ : REUTERS