สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองฝูโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการด้านบรรพชีวินวิทยาและซากดึกดำบรรพ์แห่งชาติของจีน กล่าวว่า การค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์ในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้ แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


ฟอสซิลดังกล่าวเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์สกุลซอโรพอดและเทโรพอด และมีโครงสร้างรอยริ้วคลื่นสมมาตรที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนสภาพแวดล้อมการสะสมของตะกอนของซากสิ่งทับถมในทะเลสาบในยุคสมัยนั้น โดยมีการค้นพบรอยเท้าของไดโนเสาร์ 6 สายพันธุ์ รวมมากกว่า 30 รอย


ฟอสซิลเหล่านี้ค่อนข้างหายากทั้งในแง่จำนวนและความชัดเจน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียสตอนปลาย


นายหวังเสี่ยว หลิน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการด้านบรรพชีวินวิทยาและซากดึกดำบรรพ์แห่งชาติของจีน ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ที่พบในจีนและต่างประเทศ อยู่ในยุคจูราสสิกและยุคครีเทเชียสตอนต้น ส่วนรอยที่พบในอำเภอซ่างหางนั้นเป็นของยุคครีเทเชียสตอนปลาย ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีชีวิตของไดโนเสาร์ในระยะสุดท้ายก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์


ทั้งนี้ อำเภอซ่างหางขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์หลากหลายชนิดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกมันอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นเวลานาน.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA