เมื่อวันที่ 17 ส.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดที่สำนักงาน สกสค.อนุมัตินำเงินกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) จำนวน 500 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาจากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดย ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดตามมาตรา 4 มาตรา 8 มาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และตามมาตรา 123/1 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 ซึ่งเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 10 ราย ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร สกสค.จนถึงเจ้าหน้าที่นั้น ที่ประชุมได้มอบให้ สกสค.กลับไปพิจารณาความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ก่อนและนำกลับเข้ามาเสนอบอร์ด สกสค.ใหม่อีกครั้ง รวมถึงให้ สกสค.ชี้แจงกับ ป.ป.ช.ด้วยว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาของกฎหมายจึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ด้านนายธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค.กล่าวว่า สำหรับการลงโทษทางวินัยกับอดีตผู้บริหาร สกสค.จำนวน 2 รายนั้น ที่ประชุมมีความกังวลในสถานะของอดีตผู้บริหาร สกสค.ว่าเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปนานแล้วจะสามารถลงโทษทางวินัยได้หรือไม่ตามขั้นตอนของระเบียบราชการ ดังนั้นที่ประชุมจึงส่งเรื่องดังกล่าวกลับไปให้คณะกรรมการกฎหมายและอรรถคดีของ สกสค.เป็นผู้วินิจฉัย จากนั้นเมื่อมีการวินิจฉัยทางคดีเสร็จสิ้นจะนำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม สกสค.อีกครั้งก่อนพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคำสั่งของ ป.ป.ช.ต่อไป โดยตนจะเร่งให้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายฯประชุมเร่งด่วนในวันที่ 20 ส.ค.นี้ทันที ทั้งนี้จะต้องดูข้อวินิจฉัยทางกฎหมายว่าจะสามารถลงโทษทางวินัยได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถลงโทษทางวินัยก็จะมีข้อกฎหมายรองรับว่าเพราะอะไร เช่น อดีตผู้บริหาร สกสค.พ้นสภาพไปนานแล้วจึงไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะลงโทษ เป็นต้น แต่หากวินิจฉัยแล้วสามารถลงโทษทางวินัยได้ก็จะเป็นโทษไล่ออกย้อนหลังในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ สำหรับโทษทางวินัยโดยไล่ออกย้อนหลังนั้นจะมีผลกับผู้กระทำผิดรายใดได้รับเงินบำเหน็จก็จะต้องคืน

“นอกจากนี้ยังได้มีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของ สกสค. โดยได้ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและธนาคารออมสิน เพื่อรวมหนี้ครูให้ได้เป็นก้อนเดียวกัน และง่ายต่อการวางแผนการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งมีการดำเนินการแก้ไขไปได้พอสมควร เพราะได้ใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครราชสีมาเป็นโมเดลในการแก้ไขหนี้สินครู โดยสถาบันการเงินในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายธนพร กล่าว