จากกรณี ช้างพลาย 2 ตัวชนกันด้วยเหตุตกมันจนงาหักกระเด็น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนต่างให้สนใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบและนิยมเครื่องรางของขลัง เพราะเพียงได้ยินคำว่า “งากระเด็น” ต่างก็หูผึ่งอยากเป็นเจ้าของครอบครองงาชิ้นนั้น เพราะความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างเชื่อว่าเป็นของดีหากนำไปปลุกเสกก็จะเพิ่มอิทธิฤทธิ์และพุทธคุณ

ศึกช้างชนช้าง​! ‘พลายงาทอง’ ปะทะเดือด ‘พลายทองคำ’ งากระเด็น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้สอบถามไปยังแหล่งข่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องรางของขลังรายหนึ่ง ซึ่งได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เหตุที่ “งากระเด็น” เป็นของหายากและเป็นที่เสาะแสวงหานั้น เนื่องจากเป็นของที่ต้องมาจากช้างป่าเท่านั้น แล้วยังต้องเป็นช้างตัวผู้ที่ทำการต่อสู้แย่งตัวเมียจนงานหักกระเด็น หรือ ช้างตัวผู้เกิดอาการตกมันแล้วไปอาละวาดคลุ้มคลั่งแทงใส่ต้นไม่จนงาหักกระเด็นติดต้นไม้ หรือตกลงพื้น เท่านั้น หากใครได้ครอบครองจะถือว่าโชคดีมีวาสนา เพราะเชื่อว่าเป็นของทนสิทธิ์ มีฤทธิ์เดชในตัวอย่างครอบจักรวาล ป้องกันคุณไสย คมเขี้ยวสัตว์มีพิษต่าง ๆ ปกป้องผู้ครอบครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย หรือคงกระพันชาตรี บางคนก็เชื่อกันว่า เป็นของขลังที่มีเทพเทวดาคุ้มครอง

ทั้งนี้ สำหรับช้างที่ล้มหรือตาย หรือช้างเป็น ที่มีการตัดเอางาออกไป จะไม่ถือว่าเป็นงากระเด็น อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดพบเห็นงากระเด็นได้งากระเด็น ตามโบราณที่กล่าวกันมา จะต้องประกอบพิธีพลีขอต่อเทวดาเจ้าป่าเจ้าเขา มีทั้งตั้งเครื่องบัตรพลีบวงสรวงตามแต่จะหาของเซ่นไหว้ได้ จากนั้นจึงจะนำเอามาเก็บรักษาไว้ หรือบางคนเมื่อได้มาแล้วก็แกะเป็นพระหรือรูปเคารพอื่น ๆ เช่น หากเน้นพุทธคุณไปทางคงกระพันชาตรี เป็นมหาอุด นิยมแกะเป็น “หนุมาน องคต พาลี” ตัวละครเอกในรามเกียร์ติ หรือเน้นทางโชคลาภ ก็จะนิยมแกะเป็นรูป “นางกวัก” หรือ “พระสิวลี” เป็นต้น จากนั้นจะนำไปให้พระเกจิผู้เชี่ยวชาญด้านอาคมลงอักขระ โดยจะหาฤกษ์ยามประกอบพิธีปลุกเสก เพิ่มอิทธิฤทธิ์และพุทธคุณ

อย่างไรก็ดี สำหรับคำถามที่ว่า “…ทำไมงากระเด็นถึงเป็นที่นิยมและเสาะหาของผู้นิยมเครื่องรางของขลัง…” ตรงนักสะสมทั้งในสายเครื่องรางและพระเครื่อง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ให้เหตุผลว่า งากระเด็น เป็นของดีที่จับต้องเสาะหาได้ มีความแตกต่างจากของขลังจำพวก “เหล็กไหล” และ “ไพลดำ” ที่ไม่มีใครยืนยันเคยพบเห็นของจริง ล้วนแต่เป็นคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา

สำหรับงากระเด็นที่เห็นอยู่นี้ (ภาพประกอบข่าว) เป็นงากระเด็นที่มีอายุความเก่าในช่วงราวก่อนหรือหลังปี 2500 เล็กน้อย (ตามคำบอกเล่าของบุตรหลาน/ไม่ประสงค์ออกนาม) โดยเจ้าของคนแรกเป็นพรานป่า 2 คน ได้ตามรอยหมูป่าไปพบชิ้นงาหักคาติดอยู่กับต้นไม้บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ จึงทำพิธีพลีขอ เมื่อได้มาจึงตัดแบ่งกันแล้วนำไปแกะเป็นรูปพระ จากนั้นได้นำไปให้อาจารย์ฆราวาสจารอักขระและปลุกเสกให้ หากสังเกตจะพบว่าที่ด้านปลายเหนือจากองค์พระ จะเห็นแตกหักของชิ้นงานอย่างชัดเจน.