เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ทีม พช.เชียงของ ลงพื้นที่บ้านกิ่วดอยหลวง หมู่ที่ 10 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบปะแกนนำกลุ่มงานฝีมือชาติพันธุ์ม้ง บ้านกิ่วกาญจน์-กิ่วดอยหลวง ร่วมวงสนทนาถึงแนวทางการต่อยอดผลสัมฤทธิ์จากกิจกรรมการส่งเสริมอาชีพผ้าปักม้ง และกิจกรรมการพัฒนาความเป็นอัตลักษณ์ 2 ชาติพันธุ์ (ไทลื้อ-ม้ง) ของลายผ้าสู่สากล ตามโครงการส่งเสริมทักษะและศักยภาพประชาชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านอัตลักษณ์ของชุมชน ภายใต้งบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2565 ขับเคลื่อนแนวทางตามโมเดลเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) อ.เชียงของ ซึ่งผลงานจากกิจกรรมดังกล่าวจัดเป็น “ของเด่น” ที่ทางหมู่บ้าน และ ต.ริมโขง นำออกแสดงในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ทอสายบุญ จุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ” เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่วัดหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และถนนคนเดินบ้านหาดบ้าย-หาดทรายทอง ซึ่งงานนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นประธาน และนำคณะ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลผลิตจากการสนับสนุนของโครงการข้างต้น โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ชื่นชมฝีไม้ลายมือและความสร้างสรรค์ของกลุ่มงานฝีมือชาติพันธุ์ม้ง บ้านกิ่วกาญจน์-กิ่วดอยหลวง ตลอดจนมีข้อสั่งการให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ส่งเสริมให้กลุ่มมีศักยภาพ ทั้งด้านวัสดุอุปกรณ์ และองค์ความรู้ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มได้ยิ่งขึ้นไป

สืบเนื่องจากข้อสั่งการดังกล่าว ทีม พช.เชียงของ และแกนนำกลุ่มงานฝีมือชาติพันธุ์ม้ง บ้านกิ่วกาญจน์-กิ่วดอยหลวง ได้ประเมินถึงศักยภาพ และปัจจัยที่จะเป็นส่วนเสริมกำลังการผลิตมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น โดยสิ่งที่ทางกลุ่มต้องการได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในปัจจุบัน คือ จักรเย็บผ้า อุตสาหกรรม, จักรโพ้ง หรือจักรเย็บผ้ากันรุ่ย, เครื่องรีดอัดผ้ากาว, อุปกรณ์ปักเย็บต่างๆซึ่งที่ผ่านมาแกนนำ/สมาชิกกลุ่มทั้ง 15 คน อาศัยจักรเย็บผ้า และวัสดุอุปกรณ์ส่วนตัวที่มีในบ้านเป็นส่วนใหญ่ ส่วนด้านองค์ความรู้ที่ต้องการได้รับการหนุนเสริมต่อไปนั้น อาทิ แนวทางการสร้างความเข้มแข็ง และการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม, การออกแบบเครื่องแต่งกายเครื่องประดับแนวแฟชั่นร่วมสมัย หรือข้าวของเครื่องใช้ โดยมี “เส้นด้าย ลายผ้า” ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ม้งประดับผสมผสานอย่างลงตัว ซึ่งเป็นความพยายามของกลุ่ม ในการที่จะปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยตามความต้องการของกระแสความนิยม และการนำผลิตภัณฑ์ออกจากชุมชนโดยมีตลาด ฐานลูกค้าที่กว้างขวางขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุดต้องใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยในวันนี้ ทีม พช.เชียงของ ได้ดำเนินการลงทะเบียน OTOP ให้กับกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความต้องการจากการพบปะกับแกนนำกลุ่มนั้น ทีมงานจะได้รวบรวมรายงานสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มต่อไป 

สำหรับกลุ่มงานฝีมือชาติพันธุ์ม้ง บ้านกิ่วกาญจน์-กิ่วดอยหลวง ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นคนรุ่นจำนวน 15 คน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดฝีการปักเย็บลวดลายมาจากสมาชิกในครอบครัว และผู้รู้ในท้องถิ่น ตลอดจนต่อยอดมาจากกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถือได้ว่าเป็นจุดเชื่อมร้อยที่ดีในการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยผลงานที่ได้นำออกแสดง และสร้างเสียงชื่นชมจากกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ ชุดแฟชั่นสตรีประดับลวดลายม้ง, กระเป๋าแต่งลวดลายม้ง, ผ้าปักลวดลาย/เรื่องราววิถีม้ง, ผ้าทอปักลายผสมผสานไทลื้อ และม้ง เป็นต้น โดยปัจจุบันกลุ่มยังคงทดลองพัฒนาลวดลายเรื่องราวที่เป็นของตนเอง ประยุกต์ใช้วัสดุผ้าให้หลากหลาย เน้นการใช้วัสดุ สีสัน จากธรรมชาติ.