เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมวิชาการด้านบรรพชีวิน ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 (The 6th International Palaeontological Congress:IPC6) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย. นี้ 

นายวราวุธ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์กับนักบรรพชีวินจากทั่วทุกมุมโลกที่มาร่วมประชุม ที่ได้มานำเสนอผลงานความก้าวหน้า และแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ทางวิชาการด้านบรรพชีวิน ซึ่งองค์ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับสามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์สภาพแวดล้อมที่จะมีผลกระทบกับมนุษย์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน และสิ่งที่สำคัญเราสามารถ ดูอดีต แล้วมองถึงอนาคตได้ โดยกระทรวงทรัพยากรฯ มีความพร้อมที่จะประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันรักษาซากดึกดำบรรพ์ ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป

นายวราวุธ ยังกล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยเรื่องซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ บริเวณเกาะตะรุเตา จ.สตูล ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ ในพื้นที่ ที่ทำให้อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับการประเมินให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) และซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก ที่พบว่า มีขนาดใหญ่และยาวมากถึง 69.7 เมตร จนได้รับการบันทึกสถิติโลก (Guinness World Record) ว่าเป็นไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งตรงพื้นที่นี้ สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ประเทศไทย มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยมากกว่า 3 หมื่นชิ้น จาก 404 แหล่ง ในพื้นที่ 13 จังหวัด และในปัจจุบัน แหล่งซากดึกดำบรรพ์ของประเทศไทย อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551.