เมื่อเวลา 19.15 น.วันที่ 28 ต.ค.2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รอบปฐมทัศน์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม, นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นายโกวิท ผกามาศ ผอ.สนง.ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนฯ และนางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับพระราชอาสน์ นายธีระเดช กลิ่นจันทร์ ผู้แสดงเป็นพระราม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, น.ส.นันทนา สาธิตสมมนต์ ผู้แสดงเป็นนางสีดา เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนฯ กราบบังคมทูลถวายรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร และทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” องค์ที่ 1 และองค์ที่ 2 ตามลำดับ เมื่อจบการแสดง พระราชทานดอกไม้แก่ นายสุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดง จัดทำบทและการบรรยาย, นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง ศิลปินแห่งชาติ ผู้แทยผู้เชี่ยวชาญ และครูฝึกซ้อม, นายบัญชา สุริเจย์ ผู้แสดงเป็นไมยราพ ผู้แทนนักแสดง, นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ ผู้แทนนักร้อง นักพากย์และนักดนตรี จากนั้นเสด็จฯ ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปะการแสดงโขนทุกมิติ ดังพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งเพื่อสนองพระราชปณิธานจากพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการทรงงานเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด

ทั้งนี้การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดแสดงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 รวมทั้งสิ้น 9 ตอน ได้แก่ ศึกพรหมาศ, นางลอย, ศึกมัยราพณ์, จองถนน, ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์, ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ, ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ, พิเภกสวามิภักดิ์ และสืบมรรคา โดยปีนี้จัดแสดงตอน “สะกดทัพ” ที่จะตื่นตากับความงดงามของนาฏกรรมชั้นสูงของไทย รวมทั้งเพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย  การแสดงเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.ถึง 5 ธ.ค.2565

คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกตอน “สะกดทัพ” ซึ่งครั้งนี้เป็นบทพระราชนิพนธ์ ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย เช่น เรื่องราวการต่อสู้ของหนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม และไมยราพ พญายักษ์เมืองบาดาล รวมทั้งงานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดง “หุ่นยักษ์หนุมานแปลงกาย” มี 4 พักตร์ 8 กร สูง 7.5 เมตร ถือเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาก ใส่กลไกทำให้ขยับแขนและนิ้วได้ โดยปีนี้ยังเป็นครั้งแรก สำหรับการคัดนักแสดงโขน บท “มัจฉานุ” ซึ่งใช้เด็กและเยาวชน แตกต่างจากเดิมนิยมใช้นักแสดงรุ่นใหญ่.