เมื่อเวลา 17.23 น.วันที่ 26 ต.ค.2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 โดยมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิดใหม่ “CHAOS : CLAM โกลาหล : สงบสุข”
โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, นางปรัชญา สิริวัฒนภักดี, นายปณต สิริวัฒนภักดี กรรมการ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ม.ล.ตรีนุช สิริวัฒนภักดี, ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ศาสตราจารยถาวร โกอุดมวิทย์, นายนิติกร กรัยวิเชียร กรรมการโครงการ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และคณะจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการงานเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 จากนั้นทอดพระเนตรผลงานของศิลปินที่นำมาจัดแสดง อาทิ “ชิฮารุ ชิโอตะ” ศิลปินชาวญี่ปุ่น นำเสนอผลงาน “ดิ อาย ออฟ เดอะ สตรอม 2022” แรงบันดาลใจของชิโอตะมักเกิดมาจากประสบการณ์ส่วนตัวหรืออารมณ์ที่เธอพัฒนาไปสู่ความกังวลของมนุษยชน เช่น เรื่องชีวิต การตาย และความสัมพันธ์ เธอได้ให้ความหมายใหม่กับแนวคิดเรื่องความทรงจำและความรู้สึกตัวโดยเธอรวมรวบของธรรมดา ๆ อย่างรองเท้า กุญแจ เตียง เก้าอี้ และชุดกระโปรง และเธอใช้เส้นด้ายคลุมของใช้พวกนั้นรวมเป็นโครงสร้างขนาดมหึมา เธอค้นหาความรู้สึกของ ‘การมีอยู่ ในการไม่มีอยู่’ ในผลงานประเภทศิลปะจัดวาง
ดิ อาย ออฟ เดอะ สตรอม 2022
“Map of Memories”
ศิลปินชาวจีน “ฉิว ชื่อเจี๋ย” ผลงาน “Map of Memories (พ.ศ.2560) สำรวจการเมืองของความทรงจำ หมู่เกาะทาง “ตะวันออก” วิเคราะห์การสร้างความทรงจำด้วยลักษณะภูมิศาสตร์อย่าง “ยอดเขาเกสตัลท์” และหุบเขาลึกที่ชื่อ “วิธีโลกี” ขณะที่ข้าม “ทะเลวิทยาศาสตร์สมอง”
ผลงาน “Temporary Insanity”
ผลงาน “Anything Can Break”
“พินรี สัณฑ์พิทักษ์” ศิลปินร่วมสมัยของไทย นำเสนอผลงาน “Temporary Insanity” และ “Anything Can Break” การทำงานของเธอมักศึกษาร่างและสรีระของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสื่อส่งผ่านประสบการณ์ หรือมุมมอง และประสาทสัมผัสของร่างที่มีต่อพื้นที่ และความสามารถที่ร่างสามารถถูกกระตุ้นให้เกิดการรับรู้เชิงสัญลักษณ์และแนวคิดได้ พินรีใช้วิธีการลดทอนรูปทรงเต้านมไปสู่รูปทรงที่เรียบง่ายขึ้นเช่น รูปภาชนะ หรือเนินโค้งมน ซึ่งสำหรับเธอแล้วเชื่อมโยงกับภาพของพระพุทธรูป(เทวสถาน)และบาตรพระ ศิลปินเปรียบเทียบรูปทรงนี้กับรูปร่างปฐมภูมิ หรือรูปร่างศักดิสิทธิ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมไทย สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา และการปฏิบัติในแนวคิดแบบพุทธด้วย ดังนั้นผลงานของเธอจึงก้าวผ่านการตีความที่จำกัดเฉพาะเพียงเรื่องเพศสภาพ ศาสนา และวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว
ผลงาน “ไม่รู้อะไรเลย 2020”
และผลงานชื่อ “ไม่รู้อะไรเลย 2020” ของ “ไมตรี ศิริบูรณ์” ศิลปินอิสระ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาก็เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างภาพ เขาใช้ภาพถ่ายถามคำถามเกี่ยวกับ “ลำดับชนชั้นของวัฒนธรรม” และ “อัตลักษณ์ความเป็นอีสาน” ในผลงานชุดแรกของเขา “อีสานบอยดรีม” (พ.ศ. 2549) เขาได้ชวนเพื่อนจากหลากหลายเชื้อชาติและสีผิวมาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านของเขาใกล้จังหวัดอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม ศิลปินมักกังวลย้อนคิดกลับมาหาตัวเองในความแตกสลาย ความขัดแย้ง และความเปราะบางไมตรีกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วด้วยผลงานเหล่านี้ เป็นต้น
เทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 กับผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น จากศิลปินชั้นนำของโลกจำนวน 73 ศิลปิน 35 สัญชาติ ที่จะมาสร้างความอลังการและความยิ่งใหญ่ให้กับวงการศิลปะ จัดแสดงตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก, JWD Art Space และในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 23 ก.พ.2566.