เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ระบุว่า “เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถคงอยู่ (persistent) ในร่างกายของผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นเวลานาน กำจัดให้หมดไปไม่ได้” ผู้ป่วยชายอายุ 67 ปี เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษาหายแล้วด้วยเคมีบำบัดเมื่อ 5 ปีก่อน มีปอดอักเสบจากไวรัสโควิด 4 ครั้งในเวลา 4 เดือน

ครั้งที่ 1 : เดือนกรกฎาคม 2565
มีไข้ ไอ เหนื่อย เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาว รหัสพันธุกรรม RT-PCR SARS-CoV 2 บวก CT value 17.40 ได้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เป็นเวลา 5 วัน หลังให้ปอดอักเสบดีขึ้น
ครั้งที่ 2 : เดือนสิงหาคม 2565
มีไข้ ไอ เหนื่อย และเอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาว ATK บวก ได้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เป็นเวลา 10 วัน หลังให้ปอดอักเสบดีขึ้น
ครั้งที่ 3 : เดือนกันยายน 2565
มีอาการไอ เหนื่อย ตรวจ ATK บวก เมื่อวันที่ 22 กันยายน ได้ยาโมลนูพิราเวียร์กิน 5 วัน หลังกินยาดีขึ้น
ครั้งที่ 4 : เดือนตุลาคม 2565
มีไข้ ไอ เหนื่อย ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด เห็นฝ้าขาว 2 ข้าง (ดูรูป)
ตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR SARS-CoV2 บวก CT value 19.04 ให้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565

ผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันโควิดทั้งหมด 4 เข็ม แอสตราเซเนกา 2 เข็ม ไฟเซอร์ 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม แต่ในผู้ป่วยรายนี้วัคซีนไม่ช่วยลดการป่วยหนัก ผู้ป่วยได้ Evusheld ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ฉีดเข้ากล้ามโด๊สแรกวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ซึ่งในต่างประเทศเขาแนะนำคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเช่นผู้ป่วยรายนี้ให้ฉีด Evusheld 2 โด๊สในเวลาเดียวกันทุก 6 เดือน ได้ให้ Evusheld โด๊สที่ 2 วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ในอนาคตถ้าผู้ป่วยรายนี้มีปอดอักเสบจากโรคไวรัสโควิดกลับมาอีก คงต้องให้ยาต้านไวรัสหลายชนิดพร้อมกัน..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC