“ภัยคุกคามไซเบอร์” ยังคงเป็นปัญหาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกออนไลน์!!

โดยปัจจุบัน อาชญากรไซเบอร์” พยายามหาวีธีหรือกลลวงใหม่ๆ ใช้หลอกล่อให้เหยื่อหลงกลติดกับดัก จนสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิด “วีถีชีวิตใหม่” หรือ “นิวนอร์มอล” ซึ่งเป็นเหมือน “ไฟล์บังคับ” ที่ทำให้ทุกคนต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในเรื่องการทำงานและการเรียนมากขึ้น ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าโจมตี ของ “โจรไซเบอร์” ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ “ เทรนด์ไมโคร” ซึ่งเป็นผู้นำด้านการป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ระดับโลก ก็ได้วิเเคราะห์ถึงภัยคุกคาม ทางไซเบอร์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างมาก

ไม่น่าเชื่อว่าในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดแบบนี้นอกจากต้องระวังเรื่องสุขภาพแล้ว ยังต้องระวังภัยไซเบอร์ ที่มาพร้อมกับโควิด-19  ด้วย!!

“นีเลช เจน” รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เทรนด์ไมโคร บอกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องเปลี่ยนรุปแบบการทำงาน โดยมีการทำงานระยะไกล เช่น ทำงานจากที่บ้าน หรือ เวิร์ค ฟรอม โฮม สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น โดยอาชญากรทางไซเบอร์ ได้พยายาม ฉวยโอกาสจากภาวะการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 

นีเลช เจน

 โดยจากการวิเคราะห์ของทางเทรนไมโคร พบการเพิ่มขึ้นจำนวนมากของอีเมลต้มตุ๋น สแปม และการล่อลวง แบบฟิชชิงที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติเป็นต้นมา โดยอาชญากรไซเบอร์ได้พยายาม ฉวยโอกาสใช้โคโรน่าไวรัสเป็นธีมหลักในการโจมตีอย่างต่อเนื่อง

 แล้วภัยไซเบอร์ที่แผงมากับโควิด-19 มีธุรกิจและองค์กรประเภทใดที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น??

ในเรื่องนี้ ทางผู้บริหารของเทรนไมโคร ได้ยกตัวอย่าง เช่น อีคอมเมิร์ซ ซึ่งโควิด-19 ได้ส่งผลให้ธุรกิจนี้ เติบโตอย่างมาก การซื้อสินค้าออนไลน์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้น ซึ่งอาชญากรไซเบอร์ ก็จะพยายามบุกเข้าไปในระบบโลจิสติกส์  ซึ่งการก่อวินาศกรรมการผลิต การลักลอบขนส่ง (trafficking) และการขนส่งสินค้าลอกเลียนแบบ จะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่

 ขณะเดียวกันใน ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ หรือเฮลธ์แคร์ ก็อยู่ในข่ายที่ซุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน เนื่องจากแพทย์เป็นจำนวนมากหันไปใช้ระบบการรักษาทางไกลหรือ telemedicine และการให้บริการทางการแพทย์ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ความปลอดภัยด้านไอทีสำหรับระบบเฮลธ์แคร์จะถูกทดสอบ จากเหล่าแฮเกอร์มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงว่าจะความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ป่วยและการโจมตี ของมัลแวร์เท่านั้น แต่ยังมีความเป็นไปได้ของการจารกรรมทางการแพทย์อีกด้วย

  สำหรับสถิติในการดำเนินการบล็อคภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทาง “ปิยธิดา ตันตระกูล” ผู้จัดการประจำประเทศไทย   ของ เทรนด์ไมโคร ประเทศไทยบอกถึงสถิติในปี 63  ที่ผ่านมาว่า ทางเทรนด์ บล็อคภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นจำนวน 62.6 พันล้านครั้ง หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 119,000 ต่อนาที

  โดย 91 % ของภัยคุกคามเกิดจากอีเมล  และยังตรวจพบการโจมตีบนเครือข่ายภายในบ้าน หรือ Home Network เพิ่มขึ้นถึง 210 %เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า อาชญากรทางไซเบอร์ เลือกที่จะโจมตีจากการใช้งานเครือข่ายในบ้านมากขึ้น หลังจากที่คนเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้านมากขึ้น

 นอกจากนี้รูปแบบของการโจมตีและเรียกค่าไถ่บนไซเบอร์ที่เรียกว่า “แรนซัมแวร์” ก็มีการเปลี่ยนแปลง และมีรูปแบบการโจมตีตามสายพันธุ์ (Ransomware Family) เพิ่มขึ้นถึง 34 เปอร์เซ็นต์

ปิยธิดา ตันตระกูล

โดยอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายการโจมตีใน 10  อันดับแรก  ก็ได้แก่ ภาครัฐบาล , ธนาคาร , อุตสาหกรรมการผลิต , เฮลธ์แคร์ , การเงิน ,การศึกษา , เทคโนโลยี ,อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม , อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และประกันภัย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ทาง เทรนด์ไมโคร ยังได้มีการทำวิจัย พบว่า จุดที่สามารถนำไปสู่อาชญากรรมบนไซเบอร์ ( Cybercrime)  หรือภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ในปัจจุบันได้  คือการ เวิร์ค ฟรอม โฮม(WFH ) การใช้งาน ฟู้ด เดลิเวอรี่ และ Messaging แอพพลิเคชัน  หรือ แอพส่งข้อความต่างๆ ตลอดจนข่าวสารข้อมูลที่ออกมาจากภาคส่วนต่างๆ จึงกลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ สำหรับการรักษาความปลอดภัย

การที่ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากโควิด-19 มีการ WFH และออกจากบ้านไม่ได้ด้วยการล็อคดาวน์ ทำให้แอพพลิเคชันต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากยิ่งขึ้น  โดยแอพฯที่ต้องระวังในการใช้งาน ก็คือ แอพพลิเคชันเพื่อการช้อปปิ้ง ออนไลน์

โดยผลการวิจัยระบุว่าการสูญเสียจากช้อปปิ้งออนไลน์มีมูลค่าสูงกว่า 420 ล้านเหรียญ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยง ในการทำธุรกรรม หรือการจ่ายเงินผ่านออนไลน์

 ซึ่งการใช้งาน แอพพลิเคชันเพื่อการส่งอาหาร หรือ ฟู้ด เดลิเวอรรี่ ก็อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยง จากการใช้งานที่พุ่งสูงกว่าเดิมถึง 25 % ในปีผ่านมา  และการใช้งานแอพพลิเคชันด้าน Messaging ก็มาถึงจุดที่สามารถกลายเป็นภัยคุกคามได้เนื่องจากมีการติดต่อสื่อสารผ่านทางข้อความในช่วงเวลาทำงานหรือประชุมกันมากขึ้น

ภาพ pixabay

ส่วนข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทุกคนต้องการหาข้อมูลก็เป็นอีกจุดที่กลายเป็นความท้าทาย ด้านภัยคุกคามเช่นกันในปัจจุบัน เพราะอาชญากรไซเบอร์จะอาศัยสิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจนำมาใช้ หลอกลวงเหยื่อที่ ไม่รู้เท่าทัน!!

ภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้นแล้วยังเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องเร่งกระบวนการปฏิรูปทางดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น  ส่วนผู้ใช้งานออนไลน์ก็ต้องหมั่นศึกษาข้อมูล ติดตามข่าวสาร เพราะภัยไซเบอร์เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน!!

  จิราวัฒน์ จารุพันธ์