สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า นพ.ซ่ง หนานชาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลปักกิ่ง ให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจฝ่ายบุคลากรการแพทย์ของจีน เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันในจีน ว่ามณฑลกวางตุ้งเป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศ ที่ต้องรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ “เดลตา”

นพ.ซ่ง กล่าวถึงการจัดการสถานการณ์ของจีนในเรื่องนี้ ว่าการค้นหา “ผู้สัมผัสใกล้ชิด” กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากเชื้อเดลตา ไม่ได้หมายความเฉพาะสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่เพิ่งสนทนากันอย่างใกล้ชิดเกิน 5 นาทีอีกต่อไป แต่ยังหมายถึงบุคคลซึ่งอาศัยหรือใช้เวลาภายในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 4 วัน ก่อนที่ผู้ป่วยคนนั้นแสดงอาการออกมา 

CCTV Video News Agency


ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังเก็บตัวอย่างจากสัตว์ในพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่หนูในท่อระบายน้ำ เพื่อนำมาตรวจสอบให้มั่นใจ ว่าเชื้อเดลตาจะไม่ติดต่อในสัตว์ และสัตว์กลายเป็นพาหะแพร่โรคไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่น หรือวัตถุอื่น

ทั้งนี้ นพ.ซ่งให้ข้อมูลว่า เชื้อเดลตาใช้ระยะเวลาฟักตัวนานประมาณ 3 วัน เร็วมากเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งพบที่เมืองอู่ฮั่น ใช้เวลาประมาณ 3-7 วันในการฟักตัว ขณะที่ในกรณีของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งพบผู้ป่วยมากที่สุดในเมืองกว่างโจวที่เป็นเมืองเอกนั้น ผู้ติดเชื้อใช้เวลารักษาตัวประมาณ 13-15 วัน จึงจะมีผลตรวจเป็นลบ นานกว่าเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งใช้เวลานานประมาณ 7-9 วัน ส่วนผู้ติดเชื้อเดลตาอย่างเป็นทางการคนแรกของมณฑลกวางตุ้ง เป็นชายวัย 75 ปี ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา

อนึ่ง ระหว่างวันที่ 19-24 มิ.ย.ที่ผ่านมา เมืองกว่างโจวไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม และสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาล จนถึงวันที่ 24 มิ.ย. มณฑลกวางตุ้งมีผู้ป่วยสะสมจากระลอกนี้ 166 คน และทุกคนติดเชื้อเดลตา อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการรับมือและตอบสนองที่รวดเร็วเพียงพอ นพ.ซ่งคาดการณ์ว่า มณฑลกวางตุ้งอาจมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่มากถึง 7.3 ล้านคน

CGTN


เกี่ยวกับกระบวนการรักษาผู้ป่วย นพ.ซ่งกล่าวว่า ใช้ทั้งวิธีแบบจีนและตะวันตกผสมผสานกันไป และคนไข้ 91 จาก 166 คนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว ส่วนเรื่องของวัคซีนนั้น นพ.ซ่งกล่าวว่า มากกว่า 90% ของวัคซีนที่ใช้ในจีนผลิตจากเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อยในระยะยาว ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเดลตาหลายคนมีอาการป่วยไม่รุนแรง เพราะได้รับวัคซีนแล้ว จึงขอให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80% ทั้งประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES