เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อิทธิพลจากพายุโนรู ส่งผลให้เที่ยวบิน VZ226 ของไทยเวียตเจ็ท กำหนดออกสุวรรณภูมิ 06.30 น. ถึงอุบลราชธานี 07.30 น. แต่ไม่สามารถลงจอดที่อุบลราชธานีได้ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ต้องตีเครื่องกลับมาสุวรรณภูมิ ก่อนจะมีการออกบินอีกครั้งในช่วงสายที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถลงจอดได้ รวมถึงเที่ยวบินจากสายการบินที่ออกจากสนามบินดอนเมือง ก็ไม่สามารถลงจอดได้ ทำให้ขณะนี้ต้องตีเครื่องกลับมาลงจอดที่สุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองตามเดิม รวมถึงคณะของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีกำหนดการมาที่อุบลฯ ต้องยกเลิกการเดินทางกะทันหัน ซึ่งพายุ “โนรู” พัดผ่าน จ.อุบลฯ ส่งผลให้ฝนถล่มอ่วมจมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.วารินชำราบ หลายชุมชนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องนำเรือท้องแบน ลุยช่วยชาวบ้าน ต้องอพยพหนีน้ำท่วมไปอยู่ตามศูนย์พักพิงที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ กว่า 500 ครอบครัว กว่า 1,900 คน ขณะเดียวกันชาวบ้านบางชุมชน เช่น ชุมชนท่ากอไผ่ ซึ่งเคยอพยพหนีน้ำมาพักอาศัยอยู่ใต้สะพานเสรีประชาธิปไตย ได้เพียง 3-4 วัน แต่ปรากฏระดับแม่น้ำมูลสูงเกินกว่าที่ทางการคาดการณ์ ทำให้ต้องรื้อถอนเต็นท์อพยพหนีน้ำรอบสองไปอยู่ที่สูงขึ้นอีก และบางส่วนที่อพยพมาอยู่รอบสำนักงานที่ดิน อ.วารินชำราบ เมื่อเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโนรู ปรากฏน้ำท่วมภายในเต็นท์ที่พัก เนื่องจากจุดที่เต็นท์ตั้งอยู่ริมถนนเป็นที่ต่ำ ทำให้เกิดน้ำขังรอการระบาย จึงเตรียมอพยพหนีน้ำขึ้นไปอยู่ใกล้สำนักงานเทศบาลเมืองวารินชำราบ ซึ่งเป็นที่สูง จะได้ไม่ถูกน้ำท่วมเต็นท์ที่พักซ้ำอีก ในส่วนของร้านอาหารที่ขายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลบริเวณหาดคูเดื่อ อ.เมืองอุบลฯ ถูกน้ำท่วมแล้ว และที่บ้านท่าลาด ต.เหล่าแดง อ.ดอนมดแดง ชาวบ้านพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เร่งอพยพ วัว ควาย หนีน้ำท่วมขึ้นมาไว้ที่สูง

ขณะที่ พลเอกอนุพงษ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย เตรียมรับมือพายุโนรู ผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ จาก จ.พิษณุโลก มอบแนวทางการทำงานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม โดยเน้นย้ำให้ทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินสถานการณ์พื้นที่ใดได้รับผลกระทบบ้าง จึงจะนำไปสู่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรทุกภาคส่วน ทำงานร่วมกัน รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าด้วย

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้รายงานว่า ขณะนี้ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบอุทกภัย 14 อำเภอ เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ประมาณ 2,600 ครัวเรือน จำนวนกว่า 9,200 คน อพยพ 44 ชุมชน 1,215 ครัวเรือน จำนวนกว่า 4,000 คน ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 40 จุด พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 92,000 ไร่ พื้นที่ประมงเสียหายประมาณ 500 ไร่

ด้าน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำมูลที่สถานี M 7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พบว่าระดับน้ำ วันนี้อยู่ที่ 8.78 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 1.78 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 3,310 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม จะอยู่ที่ระดับ 114.53 ม.รทก. หรือสูงกว่าตลิ่ง 2.53 เมตร

โดยนายประพิศ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำมูลที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร พบว่ามีการไหลความเร็วน้ำอยู่ที่ 3,945 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ 340.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งระดับการไหลของน้ำช้ากว่าปกติ จึงได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูง หรือไฮโดรโฟร์เพิ่มเติมอีก 2 เครื่องขนาดท่อ 24 นิ้ว สามารถระบายน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และล่าสุดที่แก่งสะพือได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 140 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูง 3 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 18 นิ้ว 2 เครื่อง และยังมีแผนสำรองเครื่องผลักดันน้ำแรงดันแรงสูงไว้อีก 10 เครื่อง รวมไปถึงเครื่องผลักดันน้ำที่จะไปติดตั้งที่บริเวณท้ายเขื่อนปากมูลอีก 200 เครื่อง ตลอดจนให้ประชาชนเป็นผู้ชี้เป้าหมายในการติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกัน โดยใช้โมเดลปี 2562 เป็นหลักเพื่อเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงให้ได้เร็วที่สุด.