เมื่อวันที่ 28 ก.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเตือน “พายุโนรู” ทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่อ้างว่า “มีเขื่อนแตกหรือไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อีกแล้ว” ผ่านสื่อโซเซียลจนเกิดความเข้าใจผิด จึงขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนและความเคลื่อนไหวของสถานการณ์จากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า จากรายงานสถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย. 2565) พบว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง (447 แห่ง) มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ 55,078 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ เทียบกับปี 2564 มากกว่าปี 2564 จำนวน 5,935 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำฯ 1,156.63 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 462.06 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 21,030 ล้าน ลบ.ม.

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 50,688 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71 เปอร์เซ็นต์ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2564 มากกว่าปี 2564 จำนวน 5,727 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 798.10 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 175.47 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 20,249 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ รวม 4 อ่างฯ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 16,307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 363.78 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 22.37 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 8,564 ล้าน ลบ.ม.

น.ส.รัชดา กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปของความจุอ่างฯ จำนวน 15 อ่างฯ อาทิ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล (87 เปอร์เซ็นต์) อ่างฯ จุฬาภรณ์ (85 เปอร์เซ็นต์) อ่างฯ อุบลรัตน์ (82 เปอร์เซ็นต์) อ่างฯ ลำตะคอง (81 เปอร์เซ็นต์) อ่างฯ สิรินธร (85 เปอร์เซ็นต์) อ่างฯ ทับเสลา (85เปอร์เซ็นต์) อ่างฯ กระเสียว (82 เปอร์เซ็นต์) และอ่างฯ ศรีนครินทร์ (82 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งหลายอ่างฯ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากมรสุม ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐมีแผนบริหารจัดการ หากจำเป็นต้องระบายน้ำไว้แล้ว เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่รับน้ำได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังสามารถรับน้ำได้ ขอให้เชื่อมั่นต่อแผนรับน้ำ และการระบายน้ำของรัฐบาล ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์พายุ “โนรู” อยู่ตลอด โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคอีสาน เพื่อติดตามสถานการณ์เตรียมการรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ “โนรู” รวมถึงติดตามแนวทางการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล และติดตามผลการดำเนินการการตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของเขื่อน เพื่อป้องกันเกิดเหตุพนังกั้นลำน้ำแตก รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย และกลไกการเจ้งเตือนระดับน้ำที่คาดว่าจะสูงขึ้นในพื้นที่เสี่ยงให้ประชาชนเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินที่สำคัญล่วงหน้าได้ทันสถานการณ์.