รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักก่อสร้างทางที่ 1 รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96.41 กม. วงเงินลงทุนรวม 55,927 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 38,475 ล้านบาท และค่าเวนคืน 17,452 ล้านบาท ซึ่งแบ่งก่อสร้าง 25 ตอน (25 สัญญา) หลังจากเคลียร์ปัญหาเรื่องค่าเวนคืนที่ดินในโครงการได้แล้ว ปัจจุบันมีความก้าวหน้าผลงาน 58.01% เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 52.23% ถึง 5.78% การทำงานบางช่วงอยู่ระหว่างก่อสร้างเสาตอม่อ บางช่วงปูผิวจราจร รวมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามคลอง และ สะพานข้ามแยกต่างๆ ตลอดจนระบบระบายน้ำ

คาดว่าปลายปี 64 จะก่อสร้างเสร็จอีก 2 สัญญา ระยะทางรวม 9.5 กม. ในพื้นที่ จ.นครปฐม ได้แก่ สัญญา 6 ช่วง กม. 17+000-22+500 ระยะทาง 5.5 กม. คืบหน้า 84% และ สัญญา 14 ช่วง กม.46+000-50+000 ระยะทาง 4 กม. คืบหน้า 91% เมื่อทั้ง 2 สัญญาแล้วเสร็จจะทำให้โครงการก่อสร้างเสร็จรวม 6 สัญญา ระยะทาง 28.91 กม. จากเดิมสร้างเสร็จแล้ว 4 สัญญา ระยะทางรวม 19.41 กม. ประกอบด้วย สัญญา 20 ช่วง กม.ที่ 77+000-80+000 ระยะทาง 3 กม.,สัญญา 21 กม.ที่ 80+000-87+000 ระยะทาง 7 กม., สัญญา 22 กม.ที่ 87+000-92+000 ระยะทาง 5 กม. และสัญญา 23 กม. ที่ 92+000-96+410 ระยะทาง 4.41 กม. ทั้ง 4 สัญญาอยู่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ส่วนอีก 19 สัญญา รวมระยะทาง 67.5 กม.จะเร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนช่วงกลางปี 66 เพื่อเปิดบริการตามเป้าหมาย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของพื้นที่ก่อสร้างเสร็จแล้วเตรียมความพร้อมทยอยส่งมอบให้กิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ชนะประมูลการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) วงเงิน 27,828 ล้านบาท ของโครงการนี้ที่ยังรอการลงนามสัญญากับ ทล. โดยเฉพาะพื้นที่สร้างด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางควบคู่กันต่อไป

โครงการนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 โดยเฉพาะเรื่องห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ ทำให้ผู้รับจ้างแต่ละสัญญาต้องบริหารแรงงานที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับงานมากที่สุด ขณะเดียวกันพบว่ามี 16 สัญญา อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ จ.นนทบุรี และ นครปฐม ทำให้ต้องปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังครบกำหนดจะเร่งรัดการทำงานด้วยการเพิ่มเครื่องจักร ทำงานล่วงเวลาตามความเหมาะสมให้เสร็จตามแผนต่อไป ทั้งนี้ ผู้รับจ้างสามารถขอขยายเวลาก่อสร้างเพื่อชดเชยได้ตามสิทธิ

ส่วนปัญหาอุปสรรคอื่นๆ อาทิ โครงการถูกร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้การก่อสร้างเรื่องผลกระทบการสัญจรไม่สะดวก ได้ทำความเข้าใจและแก้ไขผลกระทบให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ขณะเดียวกันช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนกระทบงานบางอย่าง เช่น การเทหินคลุก ทำให้ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติในงานก่อสร้างช่วงหน้าฝน ต้องเพิ่มความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น