ผังเมืองสิ่งที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง แต่เชื่อว่าหลายๆคน อาจยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญความจำเป็นของผังเมืองกันมากนัก   แท้จริงแล้วเรื่องของผังเมืองสำหรับประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการประกาศใช้กฎหมายผังเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495และผังเมืองก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินตัว ล้วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสม ส่งเสริมสภาพแวดล้อมสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและทำให้เมืองมีความปลอดภัย ซึ่งหากเมืองใด ได้รับการดูแลวางรูปแบบกำหนดการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม เท่าเทียมวางรูปแบบการคมนาคมและสาธารณูปโภคที่ทั่วถึง คลอบคลุมทุกพื้นที่ก็เชื่อว่าเมืองนั้น ผู้อยู่อาศัย ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไม่ยาก

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครผังเมืองเริ่มมีการกำหนดเป็นกฎหมาย กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้เมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น มาตั้งแต่ ปี 2535และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพมหานครเรื่อยมาทุกๆ 7ปีโดยการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมือง จะกำหนดผ่านสีของผังเมือง แบ่งออกเป็น10 ประเภท ดังนี้ เขตสีเหลือง เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เขตสีส้มเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เขตสีน้ำตาลเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เขตสีแดง เป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรมเขตสีม่วง เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า เขตสีเม็ดมะปรางเป็นที่ดินประเภทคลังสินค้า เขตสีเขียว เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมเขตสีน้ำตาลอ่อน เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและเขตสีน้ำเงิน เป็นที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

แม้มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างชัดเจน แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯก็เกิดปัญหาการใช้ที่ดินผิดประเภท  จำนวนมากเพราะด้วยที่ดินแต่ละจุดมี มูลค่า สามารถพัฒนาสร้างคุณค่าเพิ่มเติมยิ่งขึ้นดังนั้น บางจุดที่ถูกกำหนดสี จำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินบางอย่างก็ทำให้เกิดการละเมิดกฎหาย ใช้ที่ดินผิดประเภทมากยิ่งขึ้น

จากข้อมูลของสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร(กทม.)เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ความเข้าใจของประชาชนในด้านผังเมือง เริ่มมากขึ้น   แต่บางส่วนก็ยัง ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผิดกฎหมายทำให้เป้าหมายในการวางแผนเมือง จัดระเบียบ อาคารบ้านเรือน   ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดมากนัก โดยสำนักผังเมืองมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการใช้ ที่ดินให้เป็นไปตามกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ผ่านรูปแบบการสุ่มตรวจพื้นที่ต่างๆซึ่งส่วนใหญ่พบการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทไปจากข้อกำหนดตามผังเมือง  ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหรือผังเมืองสีเหลือง ซึ่งจากกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยเป็นหลักแต่มักจะมีการใช้ที่ดิน ก่อสร้างอาคารประเภทโกดัง สถานที่เก็บสินค้าและโรงงาน

นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีการใช้ที่ดินผิดประเภทจำนวนมากคือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม หรือผังเมืองสีขาวมีกรอบทะแยงสีเขียวซึ่งที่ดินดังกล่าวให้ใช้เพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวแต่ส่วนใหญ่แล้วจะตรวจพบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวม ประเภทหอพัก อพาทเมนต์ต่างๆหรือสถานที่เก็บสินค้า ซึ่งก็ขัดกับข้อกำหนดของกระทรวงเช่นเดียวกันโดยพื้นที่ที่มีการกระทำผิดกฎหมายผังเมือง ใช้ประโยชน์ที่ดินมากที่สุดคือพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม แต่มีการดัดแปลงบ้านเดี่ยวให้เป็นอาคารที่อยู่อาศัยจำนวนมากกว่า 1,000ราย

การก่อสร้างใช้ที่ดินผิดประเภทตามที่กฎหมายผังเมืองกำหนดนั้นอาจเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจของเจ้าของพื้นที่ หรือเกิดจากความตั้งใจแต่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นสำนักผังเมือง จึงได้พยายามพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ประชาชนสะดวก เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็วจึงได้มีการนำเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาความรู้ด้านผังเมืองรวมกทม. ในรูปแบบแอพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนสามารถโหลดเข้าดูข้อมูลผังเมืองรวมได้ฟรีในทุกๆพื้นที่

สำหรับแอพพลิเคชั่นผังเมืองรวมกทม. จะเป็นการรวบรวมข้อมูลกฎกระทรวงผังเมืองรวมกทม.และข้อมูลสารสนเทศกรุงเทพมหานคเข้าไว้ด้วยกันให้ประชาชนตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือการพัฒนาโครงการใดๆ รวมถึงการตัดสินใจซื้อบ้านว่าควรอยู่ในพื้นที่ไหน   จุดใดก็สามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้ ว่าจุดนั้นๆในอนาคตจะมีโครงการใดสุ่มเสี่ยงต่อการเวนคืนที่ดินบ้างหรือไม่โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ผ่าน https://3d-cpd.bangkok.go.th/m หรือแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในชื่อ Bangkok Cityplan โดยสามารถเลือกใส่ข้อมูลเลขที่โฉนดที่ดินของตนเองเพื่อตรวจสอบข้อมูลผังเมือง ซึ่งระบบจะแสดงตำแหน่งแปลงที่ดินบนแผนที่ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณ และรายละเอียดข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของแปลงนั้นๆอย่างชัดเจนหรือหากไม่มีเลขโฉนดที่ดิน ก็สามรถสามารถตรวจสอบ ได้เช่นกัน
               
แอพพลิเคชั่นที่สำนักผังเมืองพยายามพัฒนาส่งต่อข้อมูลให้ประชาชนรับรู้เรื่องราวของกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแบบสะดวกรวดเร็วนั้น อาจเป็นประโยชน์กับผู้สนใจ หรือต้องการพัฒนาที่ดินของตนเองเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ไม่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายใดๆ

แต่การป้องกันการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทที่ได้ผลจริงจังมีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแลการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ตรวจสอบเอาจริงเอาจัง ไม่ปิดหูปิดตา ปล่อยให้เกิดอาคาร บ้านเรือนและสถานประกอบการที่ก่อสร้างผิดประเภทขึ้น เพียงเท่านั้น เมื่องก็จะสวยงามเป็นระเบียบแบบภาพฝันได้ง่ายๆ.

 ญาดา  หริรักษาพิทักษ์/รายงาน