จากกรณีทีมข่าว “เดลินิวส์” ลงพื้นที่เกาะติดโครงการก่อสร้างต่างๆ หลายแห่งในทุกภาคของประเทศไทย นำเสนอเรื่องราวอาคารร้าง ตึกร้าง ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจนเห็นถึงปัญหาต่างๆ มากมาย เริ่มด้วยอควาเลียมหอยสังข์ จ.สงขลา ไปสู่อาคารผู้ป่วยนอก จ.สุราษฎร์ธานี และศูนย์กีฬาภาคตะวันออกที่พัทยา จ.ชลบุรี จนถึง “กองเสบียงฟาร์ม@อบต.นครสวรรค์ออก” จ.นครสวรรค์ ที่หลายฝ่ายกำลังหาข้อยุติร่วมกัน เพียงเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและไม่สูญเปล่า โดยเจ้ากรมการสัตว์ทหารบกเองก็ยอมรับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ไม่ได้ เพราะผิดขั้นตอนและเป็นอำนาจผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พิจารณาแต่เพียงผู้เดียวตามที่เสนอไปแล้วนั้น

‘กองเสบียงฟาร์ม’ ถกข้อพิพาทไปได้ดี ทหารยอมเปิดให้เข้าไปออกกำลังกายแล้ว

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปัญญา เฉลียวชาติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นครสวรรค์ออก จ.นครสวรรค์ พร้อมคณะผู้บริหาร แถลงชี้แจงโครงการ “กองเสบียงฟาร์ม@อบต.นครสวรรค์ออก” โดยเผยแพร่เอกสารคำแถลงการณ์ (กองเสบียงฟาร์ม) กรณีการดำเนินงานของ อบต.นครสวรรค์ออก โครงการสวนสุขภาพและสวัสดิการชุมชน (กองเสบียงฟาร์ม) บนที่ราชพัสดุ ทะเบียนเลขที่ นว.680 บางส่วน กองทัพบกใช้ประโยชน์อยู่ เริ่มจาก อบต.มีแนวคิดจะทำให้ตำบลนครสวรรค์ออกเป็นเมืองน่าอยู่ตามนโยบายที่แถลงต่อสภา อบต. โดยจัดให้มีสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเสริมสร้างอาชีพ รายได้แก่พี่น้องประชาชน

แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ใน ต.นครสวรรค์ออก อยู่ในการใช้ประโยชน์ของทหาร ดังนั้น อบต. จึงปรึกษาหารือกับหน่วยทหารในพื้นที่ (แผนกอาหารสัตว์) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2561 ว่า อบต.มีโครงการดังกล่าว ขอให้หน่วยทหารแผนกอาหารสัตว์ช่วยดูพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ในภารกิจของทหาร และ อบต.นครสวรรค์ออก ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่ปลอดภัยทางทหาร เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2561 ต่อแผนกอาหารสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 กรมการสัตว์ทหารบก ได้แจ้งเป็นหนังสือตอบกลับอนุญาตให้ อบต.ใช้พื้นที่ได้ตามที่ขออนุญาตไป ผ่านอดีตเจ้ากรมการสัตว์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ อบต.ก็มีหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการ โดยขอให้แผนกอาหารสัตว์ดำเนินการรังวัดกั้นแนวเขตที่อนุญาต ซึ่งแผนกอาหารสัตว์ฯ ก็ได้ตอบกลับเป็นหนังสือว่าได้ดำเนินการรังวัดแนวเขตเรียบร้อยแล้ว และประมาณเดือน มิ.ย. 2562 ได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่าง อบต.นครสวรรค์ออก กับแผนกอาหารสัตว์ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 กรมหารสัตว์ทหารบก และประมาณปลายปี พ.ศ. 2562 ได้รับแจ้งมลฑลทหารบก (มทบ.) 31 ว่ากองทัพบกอนุญาตให้ อบต.ดำเนินโครงการได้ อบต.ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ไม่มีหน่วยงานทหารในพื้นที่หรือที่ใดมาระงับการดำเนินการของ อบต.ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนมาถึง พ.ศ. 2564 ปลายปี ได้รับแจ้งจากแผนกอาหารสัตว์ และเกษตรกรรมที่ 3 กรมการสัตว์ทหารบก ให้ระงับการก่อสร้าง อบต.จึงไม่เข้าใจเหตุผลในการสั่งระงับดังกล่าว

ดังนั้น อบต.จึงทำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณต้นปี 2565 เพื่อขอให้เปิดโครงการสวนสุขภาพ เนื่องจากทหารนำกุญแจมาคล้องประตูเข้าออกโครงการ ต่อมาทหารติดต่อขอเจรจากับ อบต. เพื่อให้ถอนฟ้องคดี และจะเปิดโครงการให้ แต่หลังจาก อบต.ไปถอนฟ้อง ทหารก็ยังไม่เปิดประตูให้ อบต.เข้าดำเนินโครงการ อบต.จึงนำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้งในเดือน ส.ค. 2565 ในครั้งนี้ ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้องโดยให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อบต.จึงส่งเรื่องพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดและศาลปกครองจังหวัดนครสวรรค์ได้แจ้งให้ทราบว่า ตามที่ อบต.ได้ทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) นั้น เป็นสัญญาทางปกครอง ต่อมาเมื่อ อบต.ได้รับทราบคำสั่งแล้ว จึงส่งเรื่องไปอัยการสูงสุดอีกครั้งและอัยการสูงสุดได้แจ้งนัดให้ อบต.เข้าชี้แจงในวันที่ 28 ก.ย. 2565

ทั้งนี้โครงการของ อบต.นครสวรรค์ออก เป็นไปตามหลักการและเหตุผลตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน สร้างสมดุลในแหล่งท่องเที่ยวสินค้าและบริหาร ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงเวลา ฤดูกาลและรูปแบบการท่องเที่ยว สรุปตามหลักการคือ สร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงร่วมกันของคนในชุมชน สร้างกระบวนการจัดการตนเอง อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพา พึ่งพิงท้องถิ่นเป็นเครื่องความสัมพันธ์เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนเข้ากับธรรมชาติ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม

สำหรับงบประมาณตั้งแต่เริ่มก่อสร้างระหว่างปี 2561-2565 รวม 31 ล้านบาท และงบประมาณท้องถิ่นอีก 5.6 ล้านบาท ไม่ไช่งบประมาณ 50-60 ล้านบาท ตามที่เข้าใจกันตั้งแต่แรก.