เมื่อวันที่ 17 ก.ย. มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ออกแถลงการณ์ต่อการคุกคามทางเพศในหน่วยทหารและที่บ้านพักในค่ายทหาร และกรณีสามีรับราชการทหารทำร้ายตบตีภรรยาท้องแก่ อันเป็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยใจความระบุว่า กรณีการคุกคามทางเพศซึ่งผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว กลับไม่มีการลงโทษ เอาผิดผู้ก่อเหตุ แต่กลับตั้งกรรมการสอบผู้เสียหายว่ากระทำการให้หน่วยงานได้รับความเสียหาย อีกกรณีคือข้าราชการทหารทุบตีภรรยา มีการร้องเรียนไปยังต้นสังกัดแต่เรื่องเงียบเช่นกัน

จากทั้ง 2 กรณี มูลนิธิเพื่อนหญิงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญแยกเป็น 4 กรณี ดังนี้ 1.ในกรณีของการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานทหาร ขอให้เร่งรัดให้การคำเนินคดีเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และนำมาความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียหายโดยเร็ว ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่ายังมีกรณีอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยการตรวจสอบนั้นต้องกระทำโดยปกป้องคุ้มครองผู้เสียหายเป็นหลัก ไม่สร้างความกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำซ้ำ ปกป้องสิทธิผู้เสียหายทุกกรณีไม่ให้ถูกละเมิด ข่มขู่ คุกคามจากผู้มีอิทธิพล มีอำนาจและสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าผู้เสียหาย ปราศจากการแทรกแซง พร้อมประสานสหวิชาชีพและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อฟื้นฟูเขียวยาสภาพจิตใจผู้เสียหาย  

2.ขอให้ผู้กระทำผิด ขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียหาย ตามคำเรียกร้องของผู้เสียหาย 3.หน่วยงานควรให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย มากกว่าการปกป้องชื่อเสียงขององค์กร 4.ในกรณีของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงฯ ควรติดตามผลการลงโทษให้ผู้กระทำผิดชดใช้เงินและรับผิดชอบการะค่าเลี้ยงดูบุตร หากยังไม่ดำเนินการ หน่วยงานควรหาวิธีการที่จะส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่กรรยาโดยตรง โดยอาจจะตัดจากเงินเดือนของผู้กระทำผิด และกระทรวงกลาโหม ควรถือให้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีตัวอย่างที่จะต้องรณรงค์ให้กำลังพลของกองทัพเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้กระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการที่มีกำลังพลส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ควรรณรงค์ให้กำลังพลของกองทัพมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลในครอบครัวโดย “3 ไม่” คือ “ไม่ยอมรับ ไม่กระทำ ไม่นิ่งเฉย” โดยการจัดให้มีหลักสูตรอบรมกำลังพลภาคบังคับ