หลังจากที่ ‘ทนายปริญ เกษะศิริ’ อนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม และทนายความ คุณวุฒิเนติบัณฑิตไทย และปริญญาโทกฎหมาย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณียกกฎหมายฎีกาคดีแชร์ลูกโซ่ เทียบกับคดี Forex-3d โดยกล่าวว่าแม้ชดใช้เหยื่อก็ต้องติดคุก

ดารามีสะพรึง! ยกฎีกาคดีแชร์ลูกโซ่ เทียบเคียงคดี Forex-3d ถึงติดคุก แม้ชดใช้เหยื่อ… สามารถติดตามต่อได้ที่

ล่าสุดทนายปริญ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก @ทนายปริญ เกษะศิริ ต่อจากกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า ‘แชร์ลูกโซ่ ใครแจ้งความได้บ้าง
อยู่ดี ๆ ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จะเดินไปแจ้งตำรวจว่ามีความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่หรือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ได้หรือไม่ และถ้าไปแจ้งแล้ว ตำรวจจะต้องทำอย่างไร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 บัญญัติไว้ว่า “พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

ทีนี้มาดูกันว่า ความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือจะเรียกกันว่าความผิดอันยอมความได้ ที่ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือที่เรียกว่าแจ้งความดำเนินคดีก่อน พนักงานสอบสวนจึงจะมีอำนาจสอบสวน หรือความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จะถือเป็นความผิดต่อรัฐ หรือที่เรียกกันว่าความผิดต่อแผ่นดิน หรืออาญาแผ่นดิน ที่ประชาชนคนทั่วไปแม้จะไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไปกล่าวโทษหรือจะเรียกว่าแจ้งความดำเนินคดี พนักงานสอบสวนจึงจะมีอำนาจสอบสวน

มาดูกันครับ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่า ความผิดตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดต่อรัฐ เป็นอาญาแผ่นดิน ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8883/2550 ความผิดตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา ดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของ พระราชกำหนด บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะของการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไว้ และบัญญัติคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงและรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้ เพื่อคุ้มครองประชาชนเป็นส่วนรวม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าวนั้นได้

ทั้งนี้เพื่อให้เสร็จเด็ดขาดไปทันที ดังนั้น ความผิดตาม พระราชกำหนดนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรงและมีอำนาจฟ้องคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2306/2560 บทบัญญัติตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นบทบัญญัติที่วางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ความผิดฐานนี้จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด

ทีนี้ เมื่อความผิดตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดต่อรัฐ เป็นอาญาแผ่นดิน หากประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่ แต่ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนมีอำนาจทำอะไรบ้าง และพนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ มาดูคำพิพากษาศาลฎีกากันครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2542 ความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจดำเนินคดีแก่ นาย ว. กับพวกได้อยู่แล้ว ดังนั้น พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง นาย ว. กับพวก ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2549 ความผิดที่เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1), 120 และ พระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3887/2556 ความผิดต่ออาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เมื่อมีความผิดอาญาต่อแผ่นดินเกิด หรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายตามที่พยานให้การ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่ต้องสืบสวนจับกุม และสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และมาตรา 121 ไม่ว่าผู้เสียหายจะได้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ต่อมาเมื่อ จ่าเอก ฉ. กับพวก ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนคดีนี้ มีการทำบันทึกการเข้ามอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าระบุว่า นาย ส. เป็นผู้กล่าวหา จ่าเอก ฉ. กับพวก พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวและแจ้งสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ จ่าเอก ฉ. กับพวก ทราบ พนักงานสอบสวนคดีนี้ย่อมมีอำนาจสอบสวนในความผิดนี้ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ผมไม่เฉลยนะครับว่า กรณีที่ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่ เมื่อไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือไม่ และพนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเรื่องแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือไม่ เพราะคำตอบอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผมยกมาให้ทุกท่านได้ศึกษาข้างต้นแล้ว’


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ทนายปริญ เกษะศิริ