เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 65 ‘นายปริญ เกษะศิริ’ อนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม และทนายความ คุณวุฒิเนติบัณฑิตไทย และปริญญาโทกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กว่าความด้วยกฎหมายในคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งได้มีการเทียบกับคดี Forex-3d โดยระบุข้อความว่า ‘แชร์ลูกโซ่ ทันสมัยตลอดกาล แชร์ลูกโซ่ไม่ได้เพิ่งจะมี แต่มีมาแต่นมนานกาเล เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะแชร์ลูกโซ่ในยุคที่มี Social Media, Social Networking เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างกว้างขวางและฉับไว ยิ่งเป็นการง่ายที่จะแพร่ประกาศ กระจายข่าวสารเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ได้เป็นวงกว้างและรวดเร็ว และยิ่งมีการนำดารา นักร้อง ดีเจ เน็ตไอดอล หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนมาร่วมโปรโมตแชร์ลูกโซ่แล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อเป็นวงกว้าง มูลค่าความเสียหายเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท

ผมมีเรื่องราวของแชร์ลูกโซ่ในยุคหนึ่ง เป็นคดีขึ้นสู่ศาลมาให้ทุกท่านได้รู้จักและศึกษากันครับ เรื่องมีว่า นาย ศ. กับพวก ร่วมกันจัดตั้งโครงการแฟรนไชส์ร้านมินิมาร์ท ชักชวนประชาชนทั่วไปให้มาร่วมลงทุนในลักษณะซื้อหุ้นร่วมลงทุนกับร้านค้า โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลแก่สมาชิก มีการแนะนำเรื่องการซื้อการขาย การจัดทำกำไรและปันผล ชักชวนให้เป็นสมาชิกร้านค้าดังกล่าว เพื่อให้ช่วยกันระดมเงินทุนลักษณะคล้ายรูปแบบสหกรณ์โดยให้สมาชิกนำเงินมาลงทุน แล้วนำเงินไปซื้อสินค้าเพื่อนำมาขายให้แก่สมาชิกด้วยกัน มีเงินทุนหมุนเวียนกันในสมาชิก แบ่งสมาชิกออกเป็น 3 ประเภท ประเภทตำบล ประเภทอำเภอ ประเภทจังหวัด กรรมการบริหารเขตระดับตำบลเสียค่าธรรมเนียม 20,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 0.35 กรรมการบริหารเขตระดับอำเภอเสียค่าธรรมเนียม 50,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 0.45 กรรมการบริหารเขตระดับจังหวัดเสียค่าธรรมเนียม 100,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 0.65 มีการเปิดสาขาเพิ่มด้วย

หากสาขาอื่นมีผลกำไรก็จะได้รับผลตอบแทนจากสาขาอื่นด้วยเช่นกัน หากสมาชิกสามารถแนะนำบุคคลอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารเขตระดับต่าง ๆ จะได้รับค่าตอบแทนการแนะนำ โดยระดับตำบลจะได้ร้อยละ 10 ของเงิน 20,000 บาท ระดับอำเภอจะได้ร้อยละ 10 ของเงิน 50,000 บาท และระดับจังหวัดจะได้ร้อยละ 10 ของเงิน 100,000 บาท หากสามารถแนะนำบุคคลอื่นให้เปิดสาขาที่อื่นได้จะได้ค่าแนะนำเป็นเงิน 50,000 บาท หากสาขาที่สมาชิกและนำและเปิดกิจการมีกำไร ผู้แนะนำจะได้ส่วนแบ่งอีกร้อยละ 2 ของผลกำไรต่อเดือน กรณีที่แนะนำผู้อื่นมาเปิดสาขาจะได้รับต่างหากอีก 12,000 บาท ไม่รวมกับยอด 50,000 บาท สมาชิกแนะนำบุคคลอื่นให้เป็นสมาชิก สมาชิกที่เข้าใหม่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท ส่วนผู้แนะนำจะได้ส่วนแบ่ง 100 บาท ตามรูปแบบสมาชิก ภายใน 1 ปี หากสมาชิกไม่ประสงค์จะลงหุ้นต่อไปก็สามารถถอนหุ้นคืนได้ ได้มีผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าสมัครเป็นสมาชิกและได้เงินจากผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าเป็นเงิน 1,568,000 บาท

นาย ศ. แนะนำให้ผู้เสียหายที่ 22 เข้าร่วมฟังการบรรยายเกี่ยวกับการร่วมเป็นสมาชิกลงทุนกับร้านสวัสดิการยูเนี่ยนมาร์ท ส่วนผู้เสียหายที่ 55 ได้รับคำแนะนำจากผู้เสียหายที่ 22 ให้ไปฟังการบรรยายดังกล่าว ส่วนผู้เสียหายบางคนได้รับทราบข้อมูลจากผู้เสียหายที่ 55 และจากผู้ที่เคยเข้าร่วมฟังการบรรยายของ นาย ศ. กับพวก ที่ร้านค้าดังกล่าวมาก่อน จึงสนใจเข้าร่วมฟังด้วย มีการจัดบรรยายเป็นหลายรอบ มีประชาชนเข้าร่วมฟังรอบละประมาณ 10 คน โดยมี นาย ศ. เป็นผู้บรรยาย นาย ษ. เป็นผู้ฉายวีดิทัศน์สลับหน้าที่กันไป ส่วน นาย ส. นั่งอยู่ในร้านด้วย แต่ละรอบบรรยายเหมือนเดิมว่า นาย ศ. กับพวก ระดมทุนเปิดร้านขายสินค้าปลีกทั่วไป ชื่อร้านสวัสดิการยูเนี่ยนมาร์ท มีการนำผู้เข้าฟังการบรรยายไปดูสินค้าภายในร้าน ขณะนั้นมีสินค้าวางอยู่ในร้านดังกล่าวแต่มีไม่มาก ผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าสนใจจึงสมัครเป็นสมาชิก และได้รับเอกสารจาก นาย ศ. กับพวก เป็นใบหุ้น และสัญญาสมัครร่วมเป็นกรรมการบริหารเขต

ผู้เสียหายบางคนได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหุ้น 100 บาท 200 บาท และบางคนได้ 1,000 บาท หลังจากเข้าร่วมฟังการบรรยายได้ประมาณ 3 เดือน ร้านสวัสดิการยูเนี่ยนมาร์ทปิดกิจการโดยไม่มีการแจ้งให้สมาชิกทราบ เมื่อครบกำหนด 1 ปี ไม่มีสมาชิกรายใดได้รับเงินคืน จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พันตำรวจเอก ก. พนักงานสอบสวน ได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมีผู้เสียหายบางคนนำแผ่นประกาศของร้านมามอบให้ เป็นข้อมูลการสื่อสารทางออนไลน์ ต่อมา นาย ศ. นาย ษ. และ นาย ส. ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญา ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษ นาย ศ. กับพวก ยืนกรานปฏิเสธ

คดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยพิพากษาเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4875/2561 ว่าการที่ นาย ศ. กับพวก ร่วมกันดำเนินการบรรยายในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อชักชวนให้ผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าสมัครเป็นสมาชิกร้าน โดยมีเงื่อนไขจะเรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกแต่ละประเภท ตามรูปแบบสมาชิกส่วนกรรมการบริหารเขตระดับตำบลเสียค่าธรรมเนียม 20,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 0.35 กรรมการบริหารเขตระดับอำเภอเสียค่าธรรมเนียม 50,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 0.45 กรรมการบริหารเขตระดับจังหวัดเสียค่าธรรมเนียม 100,000 บาท จะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 0.65 หากมีการเปิดสาขาเพิ่มเติมและสาขาอื่นมีผลกำไรก็จะได้รับผลตอบแทนจากสาขาอื่นด้วย

หากสมาชิกสามารถแนะนำบุคคลอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารเขตระดับต่าง ๆ จะได้รับค่าตอบแทนการแนะนำ โดยระดับตำบลจะได้ร้อยละ 10 ของเงิน 20,000 บาท ระดับอำเภอจะได้ร้อยละ 10 ของเงิน 50,000 บาท และระดับจังหวัดจะได้ร้อยละ 10 ของเงิน 100,000 บาท หากสามารถแนะนำบุคคลอื่นให้เปิดสาขาที่อื่นได้จะได้ค่าแนะนำเป็นเงิน 50,000 บาท หากสาขาที่สมาชิกแนะนำและเปิดกิจการมีกำไร ผู้แนะนำจะได้ส่วนแบ่งอีกร้อยละ 2 ของผลกำไรต่อเดือน กรณีที่แนะนำผู้อื่นมาเปิดสาขาจะได้รับเงินต่างหากอีก 12,000 บาท ไม่รวมกับยอด 50,000 บาท สมาชิกแนะนำบุคคลอื่นให้เป็นสมาชิก สมาชิกที่เข้าใหม่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท ส่วนผู้แนะนำจะได้ส่วนแบ่ง 100 บาท ผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าหลงเชื่อได้สมัครเป็นสมาชิกโดยได้รับเอกสารจาก นาย ศ. กับพวก เป็นใบหุ้นซึ่งมี นาย ศ. และ นาย ษ. ลงลายมือชื่อในใบหุ้น และสัญญาสมัครร่วมเป็นกรรมการบริหารเขต ตามใบหุ้น มี นาย ศ. และ นาย ส. ลงลายมือชื่อ ตามใบหุ้นและสัญญาสมัครร่วมเป็นกรรมการบริหารเขตนั้น พฤติการณ์ของ นาย ศ. กับพวก ที่ร่วมกันประกอบกิจการ และร่วมกันบรรยายให้ข้อมูลแก่ผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกร้านค้า

โดยมีเงื่อนไขว่าจะเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้มาสมัครเป็นสมาชิกตามรูปแบบสมาชิก นาย ศ. กับพวก จึงมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้นโดยรู้อยู่แล้วว่าร้านค้า ไม่สามารถประกอบกิจการมีผลประโยชน์หรือมีกำไรสูงจนสามารถจ่ายเงินปันผลและค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกในอัตราสูงตามที่ได้มีการบรรยายชักชวนให้มาร่วมลงทุนสมัครเป็นสมาชิก อีกทั้งลักษณะการชักชวนเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนบุคคลอื่นต่อ แต่ลักษณะการชักชวนของ นาย ศ. มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน โดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ แม้มีผู้เสียหายบางคนได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหุ้น 100 บาท 200 บาท และบางคนได้ 1,000 บาท แต่ก็ได้รับน้อยกว่าที่ได้ชักชวน และได้รับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น การกระทำของ นาย ศ. กับพวก จึงเป็นการร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือเงินค่าสมัครสมาชิกจากผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าผู้ถูกหลอกลวง เป็นเงิน 1,568,000 บาท เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก

และการกระทำของ นาย ศ. กับพวก ที่เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิก โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิก เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนดและแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้ว ผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินที่ผู้นั้นได้ส่งไว้แก่ นาย ศ. กับพวก ซึ่งเมื่อคำนวณผลประโยชน์ตามรูปแบบสมาชิกแล้ว หากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่าจากการบรรยายประชาสัมพันธ์ของ นาย ศ. กับพวก นอกจากนี้ สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ได้สิทธิกู้ยืมเงิน ได้ปันผลหุ้น ได้รับเงินปันผลจากการขายสินค้า ได้รับสวัสดิการสงเคราะห์ ได้บำนาญเลี้ยงชีพมีผลประโยชน์เกินกว่าที่สถาบันการเงินให้ผลประโยชน์

หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าและประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง และปรากฏว่าผู้เสียหายบางคนได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหุ้นบ้าง แต่ก็ได้รับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น พฤติการณ์ที่ นาย ศ. กับพวก เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิก และผลประโยชน์ตอบแทนที่ นาย ศ. กับพวก จะจ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามรูปแบบสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน”ตาม พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 พ.ศ.2534 มาตรา 3 ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 ผู้กระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนจะต้องกู้ยืมเงินโดยตนหรือบุคคลใด “กระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน” ซึ่ง นาย ศ. กับพวก กระทำการในคดีนี้คือ ชักชวนบุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปว่า ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น

เพียงแต่ นาย ศ. กับพวก แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้ นาย ศ. กับพวก กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ดังนั้น เมื่อมีผู้เสียหายทั้งแปดสิบห้าหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกร้านค้าสวัสดิการดังกล่าวตามที่ นาย ศ. กับพวก ร่วมกันชักชวนมีจำนวนตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป การกระทำของ นาย ศ. กับพวก จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 วรรคแรก ด้วย

ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายบางคนมีการยอมความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป อีกทั้งความผิดตามฟ้องเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจของประเทศ อันถือได้ว่าเป็นความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศชาติโดยตรงเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษ นาย ศ. กับพวก โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว

แบ่งหน้าที่กันทำ ถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ แม้มีการเคลียร์เงินเคลียร์ทองกันและผู้เสียหายบางคนยอมความแล้ว คดีก็ไม่ระงับ และคดีพรรณนี้ ศาลไม่รอลงอาญา

ตรึกตรองให้ดี ก่อนที่จะเชื่อและนำเงินไปลงทุนกับประกาศเชิญชวนที่มีลักษณะให้ผลตอบแทนอลังการ และมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ซึ่งรูปแบบดูไม่ยากหากฉุกคิดสักนิด’

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ทนายปริญ เกษะศิริ