จากกรณีปัญหายืดเยื้อของอาคารศูนย์ OTOP (โอทอป) อาคารทรงไทยประยุกต์ 5 หลัง พร้อมทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร กลางบึงทุ่งกะโล่ ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ก่อสร้างเสร็จกว่า 20 ปี แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แม้จะถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ และมอบหมายให้เทศบาลตำบลป่าเซ่าดูแลก็ตาม เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายสายัญ โชติกรณ์ ธนารักษ์พื้นที่อุตรดิตถ์ ชี้แจงว่า ตามหนังสือที่ กค 0311.72/1392 แจ้งถึงนายกเทศมนตรีตำบลป่าเซ่า กรณีเทศบาลขอส่งคืนอาคารราชพัสดุ (อาคารศูนย์ OTOP 5 หลัง) ให้กับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่อุตรดิตถ์ ทางสำนักงานธนารักษ์ฯ ไม่อาจรับคืนอาคารได้ จนกว่าจะมีหน่วยงานอื่นยื่นเรื่องขอใช้ประโยชน์อาคารต่อไปและพิจารณาอนุญาตให้ใช้ แต่ต้องหางบประมาณบูรณะซ่อมแซมเอาเอง เนื่องจากอาคารดังกล่าวตั้งอยู่ห่างไกลสำนักงานธนารักษ์ฯ ไม่มีบุคลากรและงบประมาณดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ขณะที่ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ทางหน่วยงานที่ดูแลต้องการส่งกลับคืนมาให้กรมธนารักษ์ดูแล คงไม่สามารถกระทำได้โดยทันที เพราะตามหลักเป็นหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องบริหารจัดการเอง และเคลียร์ปัญหา รวมถึงชี้แจงปัญหากับสำนักงบประมาณให้จบ เพื่อดูว่าปัญหามาจากเหตุใดถึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงการใช้งบประมาณต่างๆ นอกจากนี้ กรมธนารักษ์เองก็ต้องพิจารณาเช่นกันว่า จะรับคืนกลับมาหรือไม่ ซึ่งต้องดูถึงความเหมาะสม โดยที่ผ่านมา ไม่มีงบประมาณบำรุงรักษา หรือบุคลากรเข้าไปดูแลเลย

ด้าน นายวินัย เอี่ยมสกุล นายกเทศมนตรีตำบลป่าเซ่า ฝากขอบคุณ “เดลินิวส์” ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอรายละเอียด ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับอาคารศูนย์ OTOP กลางบึงทุ่งกะโล่ ซึ่งสร้างมาด้วยเงินประมาณ 35 ล้านบาท แต่ถูกปล่อยทิ้งร้างให้ทรุดโทรมอย่างน่าเสียดาย ซึ่งจากการนำเสนอข่าว ทำให้ส่วนราชการมีการตื่นตัวในการร่วมแก้ไขปัญหา แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่ก็ทำให้มีความคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้ อาจมีหน่วยงานเข้าไปบูรณะ ซ่อมแซม ดำเนินโครงการในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชาวอุตรดิตถ์