เมื่อวันที่ 16 ก.ย.รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมสำนักงานก.ค.ศ. หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างรองรับการเปลี่ยนระบบการบริหาร งานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่อง
เกณฑ์ PA ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีแผนที่จะเปิดในระบบในวันที่ 1 ตุลาคม นี้

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า ตนได้ติดตามและเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไว้บ้างแล้ว สำหรับการประชุมร่วมกับกับคณะผู้บริหารในวันนี้เป็นการหารือและวางแผนตามแนวทางการดำเนินงานที่วางไว้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ ก.ค.ศ. ออกไปจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแทบทั้งหมด จึงต้องมีการวางแผนการดำเนินที่รัดกุม โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบทันที คือ เรื่องของการยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะที่สำนักงาน ก.ค.ศ. จะเปิดระบบให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ที่มีคุณสมบัติยื่นคำขอผ่านระบบดิจิทัล (DPA) ในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจาก พรบ.ดังกล่าว จะทำให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเกี่ยวกับเกณฑ์ PA และระบบ DPA ยุติไปเป็นบทบาทหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาแทน ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้วิเคราะห์และเตรียมเสนอแนวทางในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ อ.ก.ค.ศ.เกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคลโดยเร่งด่วนในวันที่ 19 ก.ย. 2565 และ อ.ก.ค.ศ. เกี่ยวกับวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในที่ 20 ก.ย. 2565 หลังจากนั้นจะนำเสนอเป็นวาระด่วนต่อที่ประชุม ก.ค.ศ. ในที่ที่ 21 ก.ย.2565 เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานและตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งในบทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ ได้ให้เวลากับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ออกหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ พรบ.นี้มีผลใช้บังคับ ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ก็จะเร่งปรับแก้หลักเกณฑ์ PA และระบบ DPA รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วที่สุดต่อไป” เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว.