เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนโลกออนไลน์ได้แชร์เรื่องราวไวรัลที่สมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Saroche Kuansiri ได้ออกมาโพสต์เตือนภัยหลังพบเอจ “แก๊งมิจฉาชีพ” โทรฯ มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรหลอกลวงผู้เสียภาษีด้วยการโทรศัพท์ถามข้อมูลผู้เสียภาษีเบื้องต้น และจะดำเนินการคืนภาษีให้ โดยส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มีหน้าตาเหมือนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรให้เข้าไปลงทะเบียน
โดยเจ้าของโพสต์ได้ระบุรายละเอียดว่า “ไว้เป็นอุทาหรณ์ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ราวๆ 11นาฬิกา ผมได้รับโทรศัพท์สายหนึ่งเป็นเบอร์มือถือ พอรับเสร็จ มันถามว่า คุณ สาโรช ควรศิริ ใช่ไหมคะ โทรฯ จากสรรพากรจังหวัดสมุทรสงคราม เรื่องตรวจสอบภาษีประจำปี ด้วยความที่หน่วยราชการเวลาโทรฯ หาผมส่วนมากก็เบอร์มือถือ ผมก็ไม่ได้เอะใจตรงนั้น ผมก็คุยโต้ตอบกันว่าให้ผมไปที่จังหวัด หรือที่อำเภอ มันบอกไม่ต้องค่ะ เดี๋ยวนี้ใช้ระบบออนไลน์ ขออนุญาตแอดไลน์เบอร์โทรฯ นี้เพื่อส่งลิงก์ พร้อมกับข้อความตามรูป
เอาจริงๆ ผมไม่มีความรู้หรอกครับ ว่าลิงก์มันจะลงท้ายด้วยอะไร .com หรือ .co.th หรืออะไรก็แล้วแต่ พอผมกดเข้าไป มันก็บอกให้รอสักพัก กำลังตรวจสอบสถานะการเงินในบัญชีธนาคาร ตอนนี้ถ้าคุณมีบัญชีธนาคารอื่น เช่น ธ.ก.ส.ให้ทำการโอนเงินมาเข้าบัญชีธนาคารออมสินเพื่อตรวจสอบ ผมกดโอนเงินจากธนาคาร ธ.ก.ส.มาเข้าที่ออมสิน ระหว่างนั้นผมก็กดเช็กยอดเงินออมสิน ปรากฏว่าโทรศัพท์ผมค้าง ปิด/เปิดเครื่องไม่ได้ เสียงมันเงียบไปสักพัก มันก็พูดกลับมาว่าตรวจสอบเสร็จแล้ว ผมเป็นมิตรครับ มิจฉาชีพ พร้อมวางสาย
ผมรีบไปที่ธนาคารออมสินแจ้งข้อมูลที่ผมได้โดนมา น้องๆ ที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือดีทุกคน รอสายโทรฯ คุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานใหญ่ เจ้าหน้าที่อธิบายกับผมว่ามิจฉาชีพใช้ระบบรีโมตควบคุมโทรศัพท์ของผม แล้วโอนเงินผมไปเข้าบัญชีมัน ให้ผมไปแจ้งความโดยลงว่าเงินถูกโอนเข้าบัญชีโจร ผมลงจากธนาคารไป สภ.อัมพวา ผู้กอง ร้อยเวร ได้คุยกับผม ซึ่งเราคิดตรงกันว่าธนาคารเป็นผู้ผิดพลาด ผมไม่ได้กดโอนเงินไปเอง ผมจึงเดินขึ้นลงธนาคารกับโรงพักจนเที่ยวที่ 4 พนักงานลงมาคุยกับร้อยเวรเอง กว่าจะได้ใบแจ้งความราว 1 ทุ่ม ระหว่างรอ ผมเช็กบัญชีธนาคารกรุงไทย ปรากฏว่าโดนดูดเงินไปโดยที่ผมไม่รู้ตัวก่อนหน้าธนาคารออมสินซะอีก 2 บัญชี จากนั้นผมนำใบแจ้งความที่โรงพักไปให้เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินรับใบแจ้งความไปดำเนินการต่อ
เมื่อวานผมไปธนาคารกรุงไทย อีก 1 ธนาคาร เพราะโดนดูดเงินออกไปโดยระบบรีโมตเหมือนกัน อย่างแรก ที่นั่นปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ แนะนำให้ผมไปแจ้งความที่โรงพัก ทางตำรวจจะจัดการเอง เขาบอกว่าเคยมีคนโดนแบบนี้หาย 20 ล้าน ก็ไม่ได้คืน ผมไปกดลิงก์นั้นเอง ผมจึงทำการปิดบัญชีของกรุงไทย ลบแอพ KTB ผมบอกกับเจ้าหน้าที่คนนั้นว่า คุณไม่โดนเองบ้างคุณไม่รู้หรอก เงินผมอยู่ในธนาคารดีๆ กลับถูกดูดไปกลายเป็นความผิดผมที่กดลิงก์ มันน่าจะเกิดกับระบบของธนาคารคุณมากกว่าที่หละหลวม
ผมจะบอกเพื่อนๆ คนรู้จักว่าธนาคารเป็นแบบนี้ ผมบอกเขาว่าธนาคารออมสินให้ความช่วยเหลือผมอย่างดี ทีนี้เขาเลยเริ่มสนใจผม เริ่มคุยกับผมอย่างจริงจัง บอกว่าธนาคารไม่เคยเจอแบบนี้ ขอเบอร์โทรฯ ร้อยเวรแล้วคุย ให้ช่วยแจ้งความทำแบบธนาคารออมสิน ผมจึงกลับไปต่ออีก 2 ธนาคาร เพื่อปิด และเปิดบัญชีใหม่ โดยเหลือบัตร ATM แค่ 1 ใบ และเหลือแอพธนาคารในมือถือแค่ 1 แอพ เหลือบัญชีอีก 1 ธนาคารไว้ใช้ทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์เป็นบัญชีหลัก เพราะธนาคารนี้จอดรถสบาย เดินทางง่าย
จึงอยากเล่าประสบการณ์ซวยนี้ให้อ่านว่า ทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อ? เหยื่อมิจฉาชีพ / เหยื่อความบกพร่องของธนาคาร เช่นผม โจรมันปลอมมาทุกหน่วยงานล่ะครับ คุณอาจจะไม่ทันระวัง มีคนโดนกันมากมายที่ไม่ได้เงินคืน ผมโดนไป 56,000 บาท นับว่ายังโชคดี วันนี้เหลือแค่เงินสดติดตัว 1,200 ผมก็ยังหวังลึกๆ รอว่าธนาคารออมสินกับกรุงไทย จะเยียวยาผม ผมยังโชคดีที่มีแม่คอยซัพพอร์ต”..
ขอบคุณภาพประกอบ : Saroche Kuansiri