เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 13 ก.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการให้กระทรวง มท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญขับเคลื่อน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนทั่วประเทศ โดยขณะนี้กระทรวง มท. ได้สั่งการไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว พร้อมกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ป.ภ.ช.) ซึ่งมี​ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) เป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยได้เน้นย้ำให้กระทรวง มท. เร่งรัดดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ เพื่อป้องกันและเเก้ไขปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กำลังประสบปัญหาการระบายน้ำเนื่องจากขยะ สิ่งปฏิกูล รวมถึงวัชพืชกีดขวางเส้นทางการระบายน้ำ ประกอบกับปริมาณน้ำในคลองมีปริมาณมาก ทำให้การระบายน้ำลงสู่เเม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปได้ช้าลง พล.อ.ประวิตร ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวง มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน อาทิ กองทัพ และกรมชลประทาน เร่งระดมสรรพกำลัง เครื่องมือ และยานพาหนะ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยโดยเร็ว นอกจากนี้ ได้สั่งการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพิ่มความถี่การเดินรถสาธารณะ ตามเส้นทางน้ำท่วมขังให้มากขึ้น พร้อมทั้งแจ้งให้ตำรวจลงพื้นที่อำนวยความสะดวกการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่ออำนวยความสะดวกและลดความเดือดร้อนในการสัญจรของประชาชนแล้ว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ปภ.ได้มีโทรสารในราชการกองอำนวยการป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยกลาง ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีสาระสำคัญให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1.บูรณาการหน่วยงาน จัดกำลังเจ้าหน้าที่เครื่องจักรกลสาธารณภัย ออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยทันทีโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการดำรงชีพ การแจกจ่ายอาหารปรุงสุก การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ให้จัดชุดปฏิบัติการของฝ่ายปกครองร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้บริการประชาชน รวมทั้งการจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร

2. เร่งรัดการระบายน้ำในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยซ้ำ หรือเกิดน้ำท่วมขังต่อเนื่องเป็นเวลานาน พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานต่างๆ อาทิ หน่วยทหาร ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต หน่วยงานด้านคมนาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศล สนับสนุนการแก้ไขปัญหา อาทิ การเปิดทางน้ำ การเร่งผลักดันน้ำ และการสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง

3.การบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้จัดชุดปฏิบัติการฉีดล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่สาธารณะ โดยเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมดำเนินการ พร้อมทั้งให้เร่งสำรวจผลกระทบความเสียหาย ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านชีวิต ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตรตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

4.สำหรับจังหวัดที่ยังไม่มีสถานการณ์อุทกภัย ให้เตรียมความพร้อมตามแนวทาง มาตรการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานในระยะเร่งด่วนจะเร่งกำจัดขยะและวัชพืชที่ขวางทางน้ำ พร้อมนำเครื่องสูบน้ำ เรือผลักดันน้ำและเครื่องมือช่าง เข้าไปช่วยเปิดทางระบายน้ำ ผลักดันน้ำจากคูคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น เพื่อให้พื้นที่น้ำท่วมขังกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้เผชิญเหตุ ได้รับรายงานว่ามีการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ซึ่งพี่น้องประชาชนต้องช่วยกันแจ้งข้อมูลมายังกระทรวง มท. หากพื้นที่ใดยังคงมีน้ำท่วมขังเเละยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ขอให้เร่งเเจ้งข้อมูลมายัง สายด่วนนิรภัย 1784 หรือที่ Line Official Account ปภ. รับเเจ้งเหตุ หรือช่องทางของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวง มท. ที่ สายด่วน 1567.