เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2565 โดยมีคณะผู้บริหารเข้าร่วม ทั้งนี้ ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์ 4 วันอันตราย (9-12 ก.ย.65) ว่าน้ำเต็มทุกคลองหลักแล้ว การทำงานน้ำท่วมเป็นงานบูรณาการไม่ใช่แค่เรื่องระบายน้ำแต่เเป็นเรื่องของการดูแลคน วางแผนจัดการจราจร การประชาสัมพันธ์ โดยให้รองปลัดกทม.ดูแลกำกับหน้างาน ช่วยผอ.เขตด้วย พร้อมขอบคุณ ผอ.เขต ที่ลงพื้นที่ไปช่วยประชาชน ไม่ใช่แค่เฉพาะสำนักงานเขต แต่ทุกสำนักต้องร่วมมือกันทุกคน

“ถามว่าผมลงพื้นที่ไปทำไม ไม่ได้ลงไปบัญชาการเหตุการณ์นะ แต่ลงไปดูปัญหา สุดท้ายงบประมาณทั้งหลายจะต้องสอดคล้องกับปัญหาที่เจอ ถ้านั่งอยู่ในห้องแอร์จะไม่รู้หรอกว่าปัญหาคืออะไร ไม่มีทางเห็นหรอกว่าชาวบ้านเขาด่าเรื่องอะไร ไม่ได้ลงไปจับผิด ผอ.เขต แต่ลงไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ จะได้ทราบว่าปัญหาอยู่ที่ไหนและนำงบประมาณจัดสรรลงในพื้นที่ให้ถูกต้อง”

นอกจากนี้ ยังแสดงความในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รู้สึกว่า กทม. ดีขึ้น สิ่งแรกที่ยืนยันคือเรื่องความโปร่งใส เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่นไม่มี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องย้ำขอทุกคนช่วยกัน อย่าให้ใครเอาชื่อไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ พร้อมระบุเรื่องผลงาน การแต่งตั้ง โยกย้ายทั้งหมด ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องใช้เงิน ใช้ความสามารถอย่างเดียว ซึ่งการดำเนินงานตามนโยบาย รวมถึงโครงการต่าง ๆ จะเป็นตัวชี้วัดว่าใครทำงานดี ใครทำงานได้

ดังนั้น เรื่องโยกย้ายเรื่องตำแหน่งทั้งหมดมาจากผลงาน ไม่มีเรื่องอื่น ๆ ขอให้เอาความประพฤติเป็นที่ตั้งและต้องดูแลลูกน้องด้วย ถ้ารู้ว่านโยบายของผู้บริหารต้องการ 2 อย่าง คือ ความโปร่งใสกับผลงาน ก็ต้องเลือกลูกน้องที่โปร่งใสและมีผลงาน ต้องเลือกคนที่มีความสามารถ โปร่งใส ไม่มีประวัติด่างพร้อย

ขณะเดียวกัน สำนักสิ่งแวดล้อมได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำคู่มือการปลูกต้นไม้ล้านต้นฉบับเอกชนและประชาชน โดยผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงแผนดำเนินการโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นต่อไปว่า ให้สำนักงานเขตเลือกเส้นทางของถนนในพื้นที่ ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยให้สำนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาว่า ถนนเส้นนั้น ๆ สามารถจัดให้มีความสวยงาม เลือกต้นไม้ชนิดไหนมาปลูกได้บ้าง อาจจะเป็นดอกไม้ที่บานทุกฤดู หรือต้นไม้ที่ให้ร่มเงา และเชิญภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม

สำหรับวิธีเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. เข้าร่วมแบบหน่วยงาน (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ) ลงทะเบียนในแบบฟอร์มผ่านเว็บไซต์ bkk1milliontrees.com ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้ โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ บริจาคกล้าไม้ และจองซื้อกล้าไม้ 2. รายบุคคล ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการด้วยการเพิ่มเพื่อนในไลน์ @tomorrowtree ลงมือปลูกต้นไม้และบันทึกผลในปลูกอนาคต เพื่อร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง .