สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอมเริกา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ว่าบริษัทเฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากสหรัฐ ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ภาพ “หนูน้อยนาปาล์ม” ที่เป็นภาพเด็กหญิงชาวเวียดนามในร่างเปลือยเปล่าวิ่งหนีพร้อมเด็กอีกหลายคน เพื่อเอาชีวิตรอดจากการที่กองทัพสหรัฐระดมทิ้งระเบิดความร้อนสูงที่รู้จักกันในชื่อ “ระเบิดนาปาล์ม” ลงใส่หมู่บ้านของเธอ ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อปี 2515 โดยชี้แจงว่า แม้การเผยแพร่ภาพเปลือยถือเป็นการละเมิดกฎการใช้งานบริการของบริษัท แต่สำหรับกรณีของภาพดังกล่าวจะให้เป็นข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นภาพที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลก จากการช่วยให้ผู้คนระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายโดยเฉพาะในนอร์เวย์วิจารณ์ว่าเป็นเพียง “คำแก้ตัว” ของเฟซบุ๊กเท่านั้น โดยเป็นผลจากกรณีเครือข่ายสังคมออนไลน์ลบภาพหนูน้อยนาปาล์มออกจากเพจของหนังสือพิมพ์ “อัฟเตนโพสเทน” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ สร้างความประหลาดใจและไม่พอใจอย่างหนักให้แก่กองบรรณาธิการ ซึ่งยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารสูงสุดของเฟซบุ๊กทันที  และตำหนิว่าการนำภาพหนูน้อยนาปาล์มออกจากระบบเป็นการกระทำที่ “ลุแก่อำนาจ”  ด้านนายกรัฐมนตรีเอร์นา โซเลเบิร์ก ผู้นำนอร์เวย์ วิจารณ์การตัดสินใจของเฟซบุ๊กอย่างหนักเช่นกัน

ทั้งนี้ ภาพหนูน้อยนาปาล์ม บันทึกโดยนายนิค อีต เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักข่าวเอพี และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 2516 ภาพนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น “สัญลักษณ์” สะท้อนความโหดร้ายของสงครามเวียดนามจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เด็กหญิงในภาพคือคิม ฟุก ปัจจุบันอายุ 53 ปี และใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดา ส่วนภาพนั้นได้รับการบันทึกไว้ขณะที่เธออายุเพียง 9 ปีเท่านั้น     

คลิปประกอบ  : New York Daily News