สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ว่ากระทรวงการคลังสหรัฐเผยรายงานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของต่างประเทศในตราสารหนี้ของรัฐบาลวอชิงตัน ภายในรอบระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันจันทร์ ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 222.66 ล้านล้านบาท )

ทั้งนี้ จีนยังคงอยู่ในอันดับ 1 ประเทศที่ถือครองพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐมากที่สุด 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 46 ล้านล้านบาท ) ตามด้วยญี่ปุ่นในอันดับ 2 อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 38.94 ล้านล้านบาท ) และอันดับ 3 เป็นของสถาบันการเงินในหมู่เกาะเคย์แมน 265,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 9.38 ล้านล้านบาท )

ขณะเดียวกันเป็นที่สนใจว่ารัฐบาลวอชิงตันเผยปริมาณการถือครองพันธบัตรของซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 42 ปี ว่าอยู่ในอันดับ 13 ด้วยมูลค่า 116,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.13 ล้านล้านบาท ) หลังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นการคำนวณรวมกับอีกหลายประเทศในแถบตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ ในฐานะกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน

นอกจากนี้ รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐยังระบุว่า ธนาคารกลางของต่างประเทศขายคืนพันธบัตรของรัฐบาลวอชิงตันมากเป็นประวัติการณ์ในรอบปีที่แล้ว โดยเฉพาะธนาคารประชาชนจีน ( พีบีโอซี ) ขายพันธบัตรของรัฐบาลวอชิงตันคืนให้กับธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) มากที่สุด 236,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 8.35 ล้านล้านบาท ) เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน

อนึ่ง การเปิดเผยปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลวอชิงตันของซาอุดีอาระเบียเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศตึงเครียดรอบใหม่ โดยรัฐบาลริยาดเตือนเรื่องการเทขายทรัพย์สินทั้งหมดของสหรัฐ หากสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก “รัฐบาลต่างชาติ” โดยซาอุดีอาระเบียมองร่างกฎหมายดังกล่าวเป็น “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง”

คลิปประกอบ : Bloomberg