เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ได้ชี้แจงการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 มีดังนี้
1.เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ160 ตรี/3)
2.เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง
2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น
-ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
-ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
-ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
-ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
-ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
-ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
-อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้
3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้
-มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ
-รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ
-มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ
-อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.134/1)
3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)
4.กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย
4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้
4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย
หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
สำหรับข้อกฎหมายข้อบังคับใช้การนั่งบริเวณแค็บ หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยแต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ส่วนประกาศกำหนดที่ชัดเจนอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธ.ค.2565
ส่วนเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธ.ค.2565 ซึ่งเรื่องที่นั่งนิรภัยนี้จะยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.ย.2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาต่อไป