นายอารีย์  พุ่มเสนาะ  ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) (CIG) ผู้ผลิตคอยล์ ชิ้นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เปิดเผยว่า บริษัทกำลังจะขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการจัดตั้งบริษัทสยามเรลเวย์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รองรับธุรกิจศูนย์ซ่อมรถไฟมาตรฐานครบวงจรแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่ซ่อมบำรุงหัวรถจักร เครื่องยนต์โบกี้ผู้โดยสารและรถขนส่งสินค้าทุกประเภท  มีเป้าหมายเสนอบริการกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภาคเอกชนอาทิ กลุ่มธุรกิจพลังงาน และปูนซีเมนต์ รองรับนโยบายรัฐบาลไทยที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายเส้นทางเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางราง เนื่องจากค่าใช้จ่ายการขนส่งต่ำกว่าทางรถยนต์ อีกทั้งยังมีคุณภาพปลอดภัยและตรงต่อเวลามากกว่า แต่ยังขาดโรงซ่อมรถไฟใช้เงินลงทุนในธุรกิจไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยนำทรัพย์สินขอกู้สินเชื่อจากธนาคาร ได้เร่งศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนกลางเดือน เม.ย.นี้

ด้านนายเศกบุษย์ บัวดวง กรรมการบริหาร บริษัทสยามเรลเวย์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท. มีศูนย์ซ่อมรถไฟขนาดใหญ่ซ่อมปัญหาระดับกลางและหนัก 5 แห่ง 1.ศูนย์ฯ มักกะสัน 2.ศูนย์ฯ บางซื่อ 3.ศูนย์ฯนครราชสีมา 4.ศูนย์ฯ อุตรดิตถ์ และ 5.ศูนย์ฯ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แต่ยังไม่พอ โดยมีหัวรถจักรประมาณ 200 คัน ใช้งานได้ 160 คัน และใช้งานไม่ได้ 40 คัน  อยู่ระหว่างรอซ่อม เนื่องจากขาดอะไหล่และขาดความสามารถในการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ แต่ละคันใช้งบซ่อม 40 ล้านบาท  รวม 1,600 ล้านบาท ส่วนรถไฟโบกี้ขนส่ง ขนาด 8 ล้อ มีประมาณ 3,127 คัน  ครบรอบซ่อมระดับเบา 8 เดือนต่อครั้ง ระดับกลาง 2 ปีต่อครั้ง และซ่อมระดับหนัก 6 ปีต่อครั้ง ซ่อมหนักครั้งละ 250,000 บาท ปี 60 รฟท.มีแผนซ่อมหนัก 220 คัน ปี 61 ซ่อม 245 คัน ปี 62 ซ่อม 376 คัน ปี 63 ซ่อม 418 คัน และ ปี 64 ต้องซ่อม 316 คัน เพราะใช้งานมาเกือบ 40 ปีแล้วเกินสภาพใช้งาน

นายเศกบุษย์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น ได้จัดหาที่ดิน 30 ไร่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ติดสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยว เหมาะสร้างศูนย์ซ่อมเพราะเป็นเส้นทางรถไฟสายหลักภาคตะวันออกและกำลังก่อสร้างรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย  พื้นที่ส่งเสริมพิเศษระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และได้รับมาตรการพิเศษทางภาษีฯ อีกทั้ง รฟท.กำลังทำประชาพิจารณ์ขอบเขตการดำเนินงาน (ทีโออาร์) โครงการเช่ารถจักรดีเซลไฟฟ้า เพื่อการขนส่ง 50 คัน พร้อมบำรุงรักษาโดยวิธีเช่า 15 ปี ทีโออาร์กำหนดให้ผู้เข้าเสนอราคาจัดหาโรงซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถจักรของตนเอง เพื่อให้รถจักรมีคุณภาพสมบูรณ์พร้อมให้บริการตลอดอายุสัญญาเช่า บริษัท สยามเรลเวย์ฯ มีความพร้อมและยินดีเป็นกิจการร่วมค้าหรือรับผิดชอบซ่อมบำรุงให้ผู้เสนอราคาทุกรายที่สนใจ 

นายเศกบุษย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับศูนย์ซ่อมรถไฟจะมีโรงซ่อม 2 โรง โรงใหญ่ มีรางซ่อม 9 รางซ่อมหัวรถจักรและโบกี้ได้รางละ 5 คัน และโรงเล็ก 4 ราง รวม 13 ราง ซ่อมบำรุงได้พร้อมกันครั้งละ 60 คัน ซ่อมเบา 3 วัน ระดับกลาง 1 เดือน และซ่อมหนัก 3 เดือน ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์มาตรฐานทั้งต่างประเทศและในประเทศบุคลากรมีความรู้ ความชำนาญทั้งจากอดีตวิศวกรและนายช่างจากการรถไฟอยู่ระหว่างส่งหนังสือ ถึง รฟท.ขออนุญาตวางรางเชื่อมสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยวใช้เวลาสร้าง 18 เดือนเปิดให้บริการปลายปี 61 ประมาณการรายได้900 ล้านบาทต่อปี