นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเพื่อเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะส่งได้ภายใน 1-2 วันนี้ โดยต้องการให้ภาครัฐบาลเร่งแก้ไขดำเนินการใน 3 เรื่องหลักในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

สำหรับข้อเสนอประกอบด้วย 1. การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรัฐควรเปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้เพิ่มขึ้นเนื่องจากขณะนี้การติดเชื้อในโรงงานเริ่มมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา 2. ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับเอกชนในเรื่องของการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ป้องกันการดูแลการแพร่เชื้อโดยเฉพาะแอนทิเจน เทส คิท (เอทีเค) ซึ่งเป็นภาระรายจ่ายของภาคเอกชนมากขึ้นในขณะนี้ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางขอความช่วยเหลือ และ 3.ขอให้รัฐพิจารณาอนุมัติให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากขณะนี้เอกชนมีศักยภาพผลิตแต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

“ตอนนี้อยากขอให้เปิดเอกชนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้หรือไม่ เพราะถ้าไทยขาดยานี้อีกจะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการเสนอแนวทางมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าไปด้วย”

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 78.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิ.ย. 64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 63 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ฯลฯ แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ส่งผลต่อธุรกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ประชาชนมีรายได้ลดลง และมีการติดเชื้อในโรงงานเพิ่มขึ้นส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตชะลอตัวลง  

“หากพิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่น ก.ค.จะเห็นว่าทุกภาคแย่ลงเว้นภาคยกเว้นภาคตะวันออกเพราะส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ขณะนี้เป็นเพียงเครื่องจักรเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากเกิดปัญหาการระบาดในโรงงานเพิ่มขึ้นจะกระทบหนักแม้ว่าวันนี้ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยหนุนแต่เราก็ยังวิตกที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเพื่อนบ้านไม่สะท้อนตามภูมิภาคซึ่งจะกระทบกับการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักรเข้ามาทำให้ต้นทุนรวมสูงส่งผลเสียต่อขีดแข่งขันได้ในระยะยาว จึงเห็นว่าค่าเงินบาทขณะนี้ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐถือว่า เหมาะสมแล้วแต่ล่าสุดได้อ่อนค่าเกินกว่านี้แล้ว ดังนั้นบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าสำคัญคือต้องสะท้อนตามภูมิภาคซึ่งเข้าใจว่าขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเข้ามาดูแล้ว”

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีฯเอกชนต้องการให้รัฐเร่งตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ เป็นต้น