“วัคซีนโควิด-19” นับเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อที่ผลิตออกมา ท่ามกลางความสงสัย ว่าวัคซีนไหนสามารถป้องกันเชื้อได้มากน้อยเพียงไร? วันนี้ “เดลินิวส์” สรุปข้อมูลที่ควรรู้มาฝากกัน

สำหรับ “วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19” ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่

-วัคซีนโควิด-19 ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบลา สำหรับกรณีโควิด-19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมา

ปัจจุบันมีสองเจ้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna

-วัคซีนโควิด-19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines) โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ

วัคซีนของ Johnson & Johnson และ Oxford – AstraZeneca รวมถึงวัคซีน Sputnik V ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวนี้

-วัคซีนโควิด-19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based vaccines) จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี

บริษัทผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว เช่น Novavax เป็นต้น

-วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines) จะผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว แต่เพราะต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้ผลิตได้ช้า และมีต้นทุนการผลิตที่สูง

สำหรับวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm

เปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 8 ยี่ห้อ มีดังนี้

1. วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)

ชื่อวัคซีน : BNT162b2 เป็นวัคซีนชนิด mRNA 

ผู้พัฒนา : บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ของเยอรมนี 

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน

ราคาวัคซีนโควิด Pfizer : 19.5 ดอลลาร์สหรัฐ/โด๊ส (ประมาณ 590 บาท/โด๊ส)

ประสิทธิภาพ : ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 95% 

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 16 ปีขึ้นไป (ยกเว้นที่สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในเด็กอายุ 12-15 ปีได้แล้ว)

การเก็บรักษา : ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า -70 ºC ทำให้ยากต่อการขนส่ง ขณะที่หากเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้ 120 ชั่วโมง (5 วัน) 

ประเทศที่ใช้วัคซีน Pfizer : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ นอร์เวย์ เซอร์เบีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล

2. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)

ชื่อวัคซีน : mRNA-1273 เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนของไฟเซอร์

ผู้พัฒนา : บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 28 วัน

ราคาวัคซีน Moderna : 25-37 ดอลลาร์สหรัฐ/โด๊ส (ประมาณ 757-1,120 บาท/โด๊ส)

ประสิทธิภาพ : โดยรวม 94.5%, ป้องกันอาการรุนแรง 100%

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป

การเก็บรักษา : เก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า -20 ºC  ซึ่งเป็นอุณหภูมิในช่องแข็งตู้เย็นปกติ แต่ก็สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC ได้ 30 วัน

ประเทศที่ใช้วัคซีน Moderna : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา กาตาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์

3. วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)

ชื่อวัคซีน : ChAdOx1 nCoV-19 vaccine (AZD1222) เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้

ผู้พัฒนา : มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) 

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 4-12 สัปดาห์ (แต่มีการศึกษาพบว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ขึ้นไป องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์)

ราคาวัคซีน AstraZeneca : 2.16-5.25 ดอลลาร์สหรัฐ/โด๊ส (ประมาณ 66-160 บาท/โด๊ส)

ประสิทธิภาพ : โดยรวม 70.4%, ป้องกันอาการรุนแรง 100%

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป  

การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC 

ประเทศที่ใช้วัคซีน AstraZeneca : เช่น สหราชอาณาจักร บราซิล ไทย เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้

4. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)

ชื่อวัคซีน : Corona Vac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย

ผู้พัฒนา : บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 2-4 สัปดาห์ 

ราคาวัคซีน Sinovac : เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ผลิตได้ยาก จึงมีราคาค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 200 หยวน/โด๊ส (29.75 USD) หรือประมาณ 940 บาท โดยประเทศไทยสั่งซื้อวัคซีนลอตแรกจากจีน จำนวน 192,000 โด๊ส คิดเป็นเงินประมาณ 98 ล้านบาท เท่ากับราคาวัคซีนโด๊สละ 513 บาท โดยประมาณ  

ประสิทธิภาพ : ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ 65.3-91.25% (ผลการทดสอบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ), ป้องกันอาการรุนแรง 100%

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18-59 ปี ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติอนุญาตให้ฉีดในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้แล้ว 

การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC ได้นาน 3 ปี 

ประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac : เช่น จีน ตุรกี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บราซิล ชิลี

5. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)

ชื่อวัคซีน : BBIBP-CorV เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย

ผู้พัฒนา : บริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) สัญชาติจีน

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน

ประสิทธิภาพ : โดยรวม 79-86% (ผลการทดสอบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ)

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป

การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC 

ประเทศที่ใช้วัคซีน Sinopharm : เช่น จีน กัมพูชา ลาว โมร็อกโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เซเนกัล

6. วัคซีนโควิด Gamaleya (Sputnik V)

ชื่อวัคซีน : Gam-COVID-Vac หรือที่รู้จักในชื่อ สปุตนิก 5 (Sputnik V) เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์

ผู้พัฒนา : สถาบันวิจัยและพัฒนากามาเลยา ประเทศรัสเซีย

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 14-21 วัน 

ราคาวัคซีน Gamaleya : 10 ดอลลาร์สหรัฐ/โด๊ส (ประมาณ 300 บาท/โด๊ส)

ประสิทธิภาพ : โดยรวม 91.6%, ป้องกันอาการรุนแรง 100%

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป

การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC  

ประเทศที่ใช้วัคซีน สปุตนิก วี : เช่น รัสเซีย เบลารุส อาร์เจนตินา ซีเรีย อุซเบกิสถาน ฮังการี

7. วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

ชื่อวัคซีน : Ad26.COV2.S หรือ JNJ-78436735 เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์

ผู้พัฒนา : บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ของสหรัฐอเมริกา

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 1 เข็ม

ราคาวัคซีน Johnson & Johnson : 10 ดอลลาร์สหรัฐ/โด๊ส (ประมาณ 300 บาท/โด๊ส)

ประสิทธิภาพการป้องกัน : ยังไม่ระบุ แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ ในระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ถึง 66-72% และป้องกันอาการป่วยหนักได้ถึง 85%

อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป

การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC 

ประเทศที่ใช้วัคซีน Johnson & Johnson : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บาห์เรน

8. วัคซีนโควิด Novavax

ชื่อวัคซีน : NVX-CoV2373 เป็นวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ

ผู้พัฒนา : บริษัท Novavax ประเทศสหรัฐอเมริกา     

ต้องฉีดกี่โด๊ส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน

ราคาวัคซีน : 16-25 ดอลลาร์สหรัฐ/โด๊ส (ประมาณ 485-757 บาท/โด๊ส)

ประสิทธิภาพ : โดยรวม 96.4%, ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100%

การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 ºC 

ประเทศที่สั่งจองวัคซีน Novavax และรอการอนุมัติ : สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย

ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนโควิด-19 ที่พบ

ผลข้างเคียงรุนแรง

มีรายงานพบผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นบ้าง ได้แก่

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

– กรณีของ AstraZeneca: สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจเชื่อมโยงกันกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภายหลังจากที่พบว่า ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีรายงานผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก และเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการฉีดจะลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว ยังถือว่ามีประโยชน์กว่า

มีคำแนะนำสำหรับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตัวนี้ว่า หากมีอาการปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ขาบวม ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

– กรณีของ Johnson & Johnson: พบว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตัวนี้แล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนของ J&J ไปประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่เกิน 3 สัปดาห์) ทำให้บางประเทศตัดสินใจยุติการใช้วัคซีนของ J&J ไป

มีผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ อีกหรือไม่?

– AstraZeneca: นอกจากประเด็นเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้ว มีรายงานว่า วัคซีน AstraZeneca ทำให้เกิดผลข้างเคียงระดับรุนแรงลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นไข้สูงกว่า 40 ˚C และพบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการไขสันหลังอักเสบหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง

– BioNTech/Pfizer: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

– Moderna: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 2.5 คน และตอนนี้ ในสหรัฐอเมริกายังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการฉีดวัคซีน

– Sinovac, Novavax และ Sputnik V: จากการศึกษาในเฟสที่ 3 ยังไม่พบรายงานว่ามีผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรง

แม้จะพบว่าวัคซีนโควิด-19 หลายตัวอาจพบกรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการฉีดทั้งหมด และแม้ว่าจะมีรายงานเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก ยังคงสนับสนุนให้เดินหน้าฉีดวัคซีนดังกล่าวอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การให้ฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้ไปเลย

อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรง หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่พบได้บ่อย

-อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา

-รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย

-มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ

-มีอาการคลื่นไส้

กรณีของวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก แตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector ที่เข็มที่สองมักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก

ในประเทศไทยโดยภาพรวมแล้ว พบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนบ้าง แต่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ในสัดส่วนที่น้อยมาก และเป็นผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรง โดยส่วนมากสามารถหายได้เองหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2–3 วัน 

อาการข้างเคียงแบบไหน ห้ามฉีดเข็มที่ 2 ต่อ

มีข้อแนะนำว่า ห้ามรับการฉีดเข็มที่ 2 ต่อ หากมีอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ทันทีหลังได้รับการฉีด ดังนี้

-วัคซีนโควิด-19 กับอาการข้างเคียงร้ายแรง

-คัน เป็นผื่นแดง หรืออาการลมพิษ

-ปาก ลิ้น หน้า หรือคอบวม

-คลื่นไส้ อาเจียน

-เวียนศีรษะ วูบ ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว

-หายใจติดขัด หอบเหนื่อย คัดจมูก

-พูดลำบาก