สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ว่าคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ( ไอพีซีซี ) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( ดับเบิลยูเอ็มโอ ) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นอีพี ) เผยแพร่รายงานความยาว 42 หน้า เกี่ยวกับ "วิทยาศาสตร์กายภาพของสภาพอากาศโลก และการวิเคราะห์ทิศทางของสถานการณ์ในอนาคต"
ทั้งนี้ รายงานของไอพีซีซีระบุชัดเจนว่า วิกฤติด้านสภาพอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ "เป็นผลจากน้ำมือมนุษย์" ส่งผลกระทบต่อทั้งพื้นดิน พื้นน้ำ และพื้นสมุทร ถือเป็นการใช้ถ้อยคำ "ตรงไปตรงมาที่สุด" เมื่อเทียบกับรายงานฉบับก่อนหน้านี้ ซึ่งใช้คำว่า "มีความเป็นไปได้สูงมากที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรม" เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน
ไฟป่าบนภูเขาปาร์นิธา ในภูมิภาคอิปโปคราติออส โพลิเทีย ทางตอนเหนือของกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
ในทางทฤษฎีนั้น คลื่นความร้อนรุนแรงจะเกิดขึ้นบนโลกทุก 50 ปี แต่ในปัจจุบันเกิดบ่อยครั้งขึ้นคือ "ทุก 1 ทศวรรษ" อิทธิพลของพายุในแต่ละภูมิภาคมีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลายพื้นที่มีฝนและหิมะตกในระดับมากกว่าที่ควรจะเป็น ภัยแล้งบนโลกเกิดบ่อยขึ้น 1.7 เท่า ส่วนฤดูกาลไฟป่ายาวนานและรุนแรงกว่าปกติ ขณะที่ "อย่างเร็วที่สุด" คือภายในปี 2593 ธารน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกอาจละลายหายไปทั้งหมด ปัจจุบันภูมิภาคแห่งนี้เผชิญกับความแปรปรวนของภาวะโลกร้อนมากที่สุด ในอัตราที่เร็วขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า
แม่น้ำปารานา ในเมืองโรซาริโอของอาร์เจนตินา แห้งขอดเนื่องจากภาวะแล้งจัด เมื่อเดือน ก.ค.ปีนี้
ด้านระดับน้ำทะเลบนโลกจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 เมตร หรืออาจมากกว่านั้น ไม่ว่ามนุษย์จะสามารถร่วมมือกันบรรเทาความผันแปรของสภาพอากาศโลกได้หรือไม่ก็ตาม จึงอนุมานได้ว่า อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลบนโลกจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษยชาติภายในอีกประมาณ 100 ปีข้างหน้า.

เครดิตภาพ : AP