ภาพคนที่กำลังใช้ไม้คราดวัตถุสีขาวให้มากองรวมกันเป็นกองเล็กกองน้อย ไม่ใช่ภาพที่จะพบเห็นได้เฉพาะพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ที่หลายคนคุ้นตาเท่านั้น เลยลงไปที่ภาคใต้เกือบสุดปลายด้ามขวาน เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ผู้คนในแถบนี้มักคุ้นกันว่า ที่นี่คือแหล่งผลิตและส่งออกเกลือที่สำคัญเพียงแห่งเดียวในพื้นที่แถบแหลมมลายู ที่นี่ “ปัตตานี”

               ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นดินเลนริมชายฝั่งจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นดินแดนผลิตเกลือ พ่อค้าวาณิชในโลกมลายูต่างเดินทางมาแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกลือปัตตานี ที่ขึ้นชื่อว่ามีลักษณะที่โดดเด่นและรสชาติกลมกล่อมจนได้ฉายาว่าเป็น “Garam Manis” หรือ “เกลือหวาน” ในอดีตมีพื้นที่ทำนาเกลืออยู่หลายพันไร่ แต่ปัจจุบันด้วยสภาพแวดล้อมหลายอย่าง อาทิ การขยายตัวของเมือง รายได้ของเกษตรกรที่น้อยลง กระทั่งฟ้าฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้พื้นที่ทำนาเกลือลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

               จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “Pattani Decoded 2022” งานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ โดยกลุ่มสถาปนิก นักออกแบบ และผู้คนในชุมชน ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ในเมืองปัตตานี ในนาม “มลายูลิฟวิ่ง” (Melayu Living) ร่วมแรงร่วมใจจัดงานเพื่อรื้อฟื้นสิ่งดี ๆ ของเมืองปัตตานี ที่อาจถูกหลงลืมไปด้วยกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับภาคีหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่จัดเทศกาลสร้างสรรค์ที่ชื่อว่า “Pattani Decoded” ปัตตานีดีโคตร ขึ้นครั้งแรกในปี 2562 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ โดยจะมีการจัดงานขึ้นอีกครั้งในปีนี้ ระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน ในชื่อตอนว่า “Deep Salt” ถอดรหัสเกลือให้อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ชวนให้ผู้ร่วมงานได้ดำดิ่งและลงลึกไปยังเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเกลือหวานปัตตานี

               ฮาดีย์ หะมิดง ในฐานะประธานจัดงาน ได้พูดถึงแนวคิดของการจัดงานในครั้งนี้โดยอธิบายว่า คนในพื้นที่รู้สึกผูกพันกับเกลือมาอย่างยาวนาน เกลือปัตตานีมีรสชาติและลักษณะเฉพาะตัวซึ่งต่างจากเกลือสมุทรในภูมิภาคอื่น ๆ คือไม่เค็มจัด ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนยืนยันว่าการที่รสชาติไม่เค็มจัดทำให้เหมาะกับการทำอาหาร แต่ปัจจุบันการทำนาเกลือประสบปัญหาทั้งเรื่องพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ งาน Pattani Decoded จะเป็นงานที่แสดงความเคารพคนที่ทำนาเกลือและที่สำคัญที่สุดคือการเชิญชวนให้คนที่มาร่วมงานได้ช่วยกันแสดงความเห็นว่า เราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หากเรามองว่าเกลือเป็นทั้งต้นทุนและมรดกทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่

               ปัตตานีเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตั้งแต่ในยุครัชกาลที่ 3 ไปจนถึงการเข้ามาของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน ขณะที่ย่านชุมชนเมืองเก่าปัตตานี เป็นชุมชนชาวจีนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยย่านถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนอาเนาะรู และถนนฤาดี เมืองเก่าที่เป็นแหล่งค้าขายอยู่ร่วมกันทั้งมลายู จีน และไทย ตึกร้างบ้านเก่าหลายหลังเปิดต้อนรับการมาเยือนของผู้คนด้วยงานศิลปะและภูมิปัญญาการอยู่อาศัยของท้องถิ่นดั้งเดิม ทำให้ปัตตานีมีสีสันน่ารักด้วยรอยยิ้มของผู้คน

               เทศกาล Pattani Decoded จึงเลือกจัดขึ้นบนถนนอาเนาะรู ถนนฤาดีและถนนปัตตานีภิรมย์ในย่านเมืองเก่าของเมืองปัตตานี โดยได้ความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนเปิดบ้านเพื่อเป็นที่จัดแสดงงาน ประกอบไปด้วยนิทรรศการโดยนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และศิลปินทั้งจากสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งนักออกแบบจากกรุงเทพฯ เพชรบุรี ขอนแก่น รวมมากกว่า 20 นิทรรศการ อาทิ Field Work งานแลนด์อาร์ต โดย ศาวินี บูรณศิลปิน จากสตูดิโอออกแบบ ThingsMatter ที่จำลองความงดงามของอ่าวปัตตานีในอดีตบันทึกโดยพ่อค้านักเดินเรือ Le Sel de La Vie หรือ เกลือแห่งชีวิต โดย เบญจเมธาเซรามิค นิทรรศการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์งานฝีมือโดยใช้แรงบันดาลใจจากเกลือไปแปรรูปให้เป็นสินค้าแขนงต่าง ๆ ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ จาก SRINLIM Design Studio รังสรรค์ลวดลายผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายของเศษจานชามโบราณที่พบในนาเกลือ บ้านเรือนของผู้คน ช่องลม

               Salted Space โดย อนุสรณ์ ติปะยานนท์ และ นราวดี โลหะจิณดา นิทรรศการที่จะเปลี่ยนประสบการณ์รับรู้ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเกลือในภูมิภาคแห่งนี้ Motion Graphic Unlucky Odyssey โดยทีม Pattani Landlord นําเสนอผลงานในรูปแบบ Visual Projecting การฉายแสงชิ้นงานลงบนอาคารในย่านเมืองเก่าปัตตานี โดยบรรจุร่องรอยและเรื่องราว เชื่อมโยงพื้นที่ ผู้คนเข้ากับการเดินทางของเกลือและใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านของเกลือเป็นต้นทุนความคิด

               นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เดินเล่นเส้นน้ำใส โดย Trash Hero Pattani กิจกรรมสำรวจคลองน้ำใสที่ไหลผ่านย่านเศรษฐกิจและเมืองเก่าออกไปสู่แม่น้ำปัตตานีและอ่าวปัตตานี ก่อนที่น้ำในอ่าวจะถูกผันเข้ามาทำนาเกลืออีกครั้ง Exclusive Day Trip ทริปท่องเที่ยวสุดพิเศษที่จะพาผู้คนไปสัมผัสบรรยากาศนาเกลือ ธรรมชาติและความสวยงามที่อยู่รายล้อมป่าชายเลนของจังหวัดปัตตานี รวมทั้งมื้อค่ำสุดพิเศษในรูปแบบของ Chef Table กับเมนูท้องถิ่น ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นเกลือและเกี่ยวข้องกับเกลือปัตตานีวางจำหน่ายด้วย รวมทั้ง Workshop ที่จะทำให้รู้จักเกลือปัตตานีมากขึ้น

               รู้จักเกลือหวานแห่งปัตตานีแล้ว ห้ามพลาดการเที่ยวชมยลความงามเมืองสามวัฒนธรรมแห่งนี้ด้วย เริ่มที่ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” หรือ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” ศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของปัตตานีมาตั้งแต่โบราณย่านถนนอาเนาะรู เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตาโชคลาภ ค้าขาย ชาวบ้านในพื้นที่รวมถึงผู้มาเยือนจึงมักมากราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิต

               ติดกับศาลเจ้าฯ ยังมีย่านเมืองเก่าปัตตานี “กือดาจีนอ” งดงามด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลากหลายสไตล์ พร้อมให้ชมและเดินทอดน่องผ่อนคลายชมเมืองเก่าที่สวยงาม

               อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของปัตตานีที่นักท่องเที่ยวนิยมมากราบสักการะ คือ “หลวงปู่ทวด” พระเกจิอาจารย์ดังของหัวเมืองปักษ์ใต้ อดีตเจ้าอาวาสเจ้าของตำนานที่ว่า “หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” คนภาคใต้บางส่วน เรียกท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมานานกว่า 300 ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

               หากมีเวลาในช่วงเย็น กิจกรรมที่ใครไปใครมาปัตตานีแล้วไม่แวะเที่ยวถือว่าพลาดคือ ล่องเรือลอดอุโมงค์โกงกาง ชมวิวปากอ่าวปัตตานี“ชุมชนท่องเที่ยวบางปู” อำเภอยะหริ่ง อุโมงค์โกงกางสีเขียวความยาว 800 เมตร บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ควบคู่วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน และการชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่มีฝูงนกนับร้อยตัวทั้งนกกระยาง และนกกาน้ำ ออกหากิน รวมทั้งหิ่งห้อยที่ส่องแสงระยิบระยับ เรือลำเล็กสามารถนั่งได้ 4 ท่าน ราคา 350-400 บาทต่อลำ และเรือลำใหญ่ นั่งได้ 8 ท่าน ราคา 600-700 บาทต่อลำ

               การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมกันถอดรหัสและสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ปัตตานีในงานเทศกาล Pattani Decoded 2022 ระหว่างวันที่ 2-4 กันยายนนี้ และเยี่ยมเยือนแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในปัตตานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานนราธิวาส โทร. 0-7354-2346 หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ : TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส และดูข้อมูลเทศกาลปัตตานีดีโคตรได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : pattanidecoded หรือ IG : pattani_decoded

Pattani Decodede 2022

2-4 กันยายนนี้ ณ ถนนอาเนาะรู ถนนฤาดี และถนนปัตตานีภิรมย์ ในย่านเมืองเก่าของเมืองปัตตานี

              Exclusive Day Trip สัมผัสบรรยากาศนาเกลือ

               – Chef Table มื้อค่ำสุดพิเศษรังสรรค์จากเมนูท้องถิ่น

               Salt Market ตลาดขายสินค้าที่พัฒนาจากเกลือ

              Workshop : Sweet Salt Scrub, Fashion Photography & Studio Lighting, ปั้มผ้าด้วยบล็อกไม้, เสน่ห์หมึกปลายไม้, การวาดเส้นด้วยสีธรรมชาติ และ Res. Story Journey in Pattani

               – เวทีเสวนาหัวข้อ : กัดก้อนเกลือกิน, เกลอเกลือ, Spirit Samala, The Memoirs of Taning, สร้างเมืองให้สร้างสรรค์ด้วยพลังคนอยู่เมืองม The Jewel of Malay Peninsular, Talk with AnOfficerDie, The Line of C Scape, Garam Manis ในความทรงจำ และปัตตานี ยินดีที่ได้รู้จัก