เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่อาคารอเนกประสงค์ อบต.ยางชุมใหญ่ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายสมโรจ นามวงษ์ นายก อบต.ยางชุมใหญ่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ต.ยางชุมใหญ่ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ โดยมี น.ส.กมลมาศ เอี้ยวถาวร หัวหน้างานบริหารทั่วไป มรภ.ศรีสะเกษ ในนามคณะกรรมการจัดงานโครงการฯ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา อบต.ยางชุมใหญ่ คณะวิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม และมี รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ ทองพันชั่ง รองอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าวด้วย

รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่ อบต.ยางชุมใหญ่ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของ มรภ.ศรีสะเกษ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก หลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน รวมถึงส่งเสริมเกี่ยวกับทักษะ ศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ของผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเข้มแข็งได้ เพื่อสนองนโยบายโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณา หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ มรภ.ศรีสะเกษ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ ต.ยางชุมใหญ่ ในการดำเนินการรายตำบลภายใต้โครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ร่วมโครงการใน ต.ยางชุมใหญ่ ได้รับการพัฒนาสัมมาชีพ เพื่อยกระดับสินค้า สินค้า OTOP การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า และแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่า มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ชุมชน ใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตบริการของ มรภ.ศรีสะเกษ ในการรวบรวมสังเคราะห์องค์ความรู้ด้านการจัดการพัฒนาทักษะการสร้างอาชีพ ให้ประชาชนในชุมชนเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางพัฒนา ทางเลือกในการประกอบอาชีพเป็นการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน และเพิ่มศักยภาพทักษะอาชีพเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ มี 3 กิจกรรม ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่า และกิจกรรมการอบรมให้ความรู้หลักสูตรกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์เพื่อขายสินค้าบนสมาร์ทโฟน เพื่อมุ่งเน้นที่การพื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้หลัก BCG Mode! ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Cicular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

โดยทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.