หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ประเด็นวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมเวลาเกิน 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ขณะที่ ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายชั้นพญาครุฑ อธิบายขั้นตอน หากศาลสั่งให้ นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่รักษาการแทนและปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ ครม.รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้ และขอความร่วมมือฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ เพราะการพิจารณาและวินิจฉัยของศาล จะไม่กระทบความสมบูรณ์ใดๆ ของการบริหารราชการ

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 วางหลักปฏิบัติเพื่อไม่ให้การบริหารประเทศเกิดสุญญากาศ

โดยเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ที่ประชุม ครม.มีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับคือ
(1) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
(2) นายวิษณุ เครืองาม
(3) นายอนุทิน ชาญวีรกูล
(4) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
(5) นายดอน ปรมัตถ์วินัย
(6) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ทั้งนี้จากการเปิดบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกฝ่ายค้านและกลุ่มต้าน ลากเข้าเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกฯ หลายครั้ง

ทว่าทุกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ แคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย เหมือนแมว 9 ชีวิต มีวิชาคงกระพันชาตรี ยกตัวอย่าง 3 เหตุการณ์สำคัญ

(1) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ ส่งคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย กรณีนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นคำร้องขอให้พิจารณากรณี พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่

แต่ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องวินิจฉัยปมถวายสัตย์ โดยให้เหตุผลไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

(2) ครั้งที่สอง วันที่ 28 มิ.ย.2562 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นคำร้องถึงประธานสภา ให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยประเด็น ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

อย่างไรก็ตามวันที่วันที่ 18 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาด พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจาก หัวหน้า คสช. ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งรัฏฐาธิปัตย์ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

(3) ครั้งที่สาม วันที่ 9 มี.ค.2563 ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อยื่นคำร้องถึงประธานสภา ให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ จากกรณีกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์อาศัยในบ้านพักค่ายทหารหลังเกษียณ

จากนั้นวันที่ 2 ธ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ อยู่บ้านพักหลวงไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก และรัฐพึงต้องจัดบ้านพักรับรองให้นายกฯ อยู่อย่างสมเกียรติ เพื่อสร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกาย และจิตใจ การปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ

นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก จวบจนถึงนาทีนี้ ปมร้อนวาระ 8 ปี ถือเป็นมรสุมลูกแรกที่สั่นคลอนเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเด่นชัด และเป็นรูปธรรมมากที่สุดในรอบ 8 ปี

บทสรุปจะเป็นเช่นไรต้องตามติดชนิดไม่กะพริบตา!